SPRC ซื้อ ‘คาลเท็กซ์’ ขึ้นแท่นปั๊มน้ำมันน้องใหม่ตลาดหุ้นไทย
ปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศปีนี้เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานพบว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงช่วง 10 เดือนแรกอยู่ที่ 149.75 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 15.4% YoY
โดย “กลุ่มเบนซิน” มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 29.83 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 5% YoY และ “กลุ่มดีเซล” เฉลี่ยอยู่ที่ 72.20 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 18.6% YoY หลังรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชน
ยอดการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งในเมืองไทยมีอยู่หลายแบรนด์ ทั้งที่เป็นของคนไทยและต่างชาติ นำโดย “PTT Station” ปั๊มน้ำมันคู่ใจคนไทยของกลุ่มปตท. ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ปัจจุบันครองตำแหน่งเจ้าตลาด มีส่วนแบ่งมากกว่า 43% ด้วยจำนวนสาขาที่มากที่สุดในประเทศ 2,111 แห่ง
“พีที” ของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เป็นอีกค่ายที่น่าจับตามอง เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” ค่อยๆ ตีจากต่างจังหวัดเข้ามาในตัวเมือง ที่ผ่านมาเน้นเข้าซื้อปั๊มเก่าๆ แล้วนำมารีโนเวทใหม่ ทำให้ขยายธุรกิจได้เร็ว ปัจจุบันมีสาขารวม 1,987 แห่ง
อีกแบรนด์เก่าแก่ “บางจาก” บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP มีจำนวนสถานีบริการทั้งหมด 1,320 สถานี เป็นอีกบริษัทที่ทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่โรงกลั่น เคมีภัณฑ์ และธุรกิจค้าปลีก
ส่วนแบรนด์จากต่างประเทศ “เอสโซ่” ของกลุ่มธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ระดับโลก “เอ็กซอนโมบิล” มีจำนวนสถานีบริการทั้งหมด 780 แห่งทั่วประเทศ และล่าสุดประกาศร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO เพื่อพัฒนาสถานีบริการต้นแบบ โดย ESSO จะเข้าไปช่วยปรับปรุงสถานีบริการของ “ซัสโก้” ให้มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น เปลี่ยนเป็นแบรนด์เอสโซ่และทำการตลาดร่วมกัน
และอีกหนึ่งแบรนด์ที่เตรียมจะเข้ามาโลดแล่นในตลาดหุ้นไทย คือ “คาลเท็กซ์” หลังบอร์ดบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ทุ่มเงินลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อเข้าซื้อ
1.) หุ้น 100% ในบริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำธุรกิจปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ รวม 427 แห่ง และยังถือหุ้นอีก 2.51% ในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS
2.) ซื้อหุ้น 9.9% ในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (Thappline) ทำธุรกิจขนส่งและจัดจำหน่ายน้ำมันทางระบบท่อส่ง
3.) ซื้อที่ดิน 19 แปลง เพื่อสร้างสถานีบริการน้ำมันและคลังน้ำมัน
การลงทุนของ SPRC ในครั้งนี้ เพื่อขยายธุรกิจสู่ปลายน้ำ ต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจร จากปัจจุบันที่รายได้หลักมาจากโรงกลั่น ซึ่งแน่นอนว่าหากดีลนี้ผ่านจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาว จากสัดส่วนรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น และในอนาคตอาจมีการแยกธุรกิจปั๊มน้ำมันดันเข้าตลาดหุ้นก็เป็นไปได้
ด้าน บล.ดาโอ ระบุว่า มีมุมมองบวกต่อดีลดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนในรูปแบบบูรณาการแนวตั้ง (vertical integration) นี้ จะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตไปกับธุรกิจปิโตรเลียมปลายน้ำได้คล่องตัวมากขึ้น และเป็นปัจจัยสร้างการเติบโตใหม่ให้กับบริษัทหากธุรกรรมนี้สำเร็จ ประเมินว่าในปี 2567 จะมีกำไรจากดีลนี้เข้ามาประมาณ 800 ล้านบาท เทียบกับกำไรของ SPRC ปี 2566 ที่ 6.4 พันล้านบาท
1.) ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งคิดบนสมมติฐานการเติบโตของรายได้เสมือน (proforma) ของบริษัทปี 2565-2567 ที่+60%, +10% และ-10% จากรายได้ proforma ของบริษัทที่ 8.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และอัตรากำไรสุทธิปี 2567 ที่ 0.5% เท่ากับในปี 2562
2.) รายได้เงินปันผลที่เป็นไปได้จากการถือหุ้น 2.5% ใน BAFS ประมาณ 12 ล้านบาท (คิดบน EPS ของ BAFS ปี 2567 ที่ 0.77 บาทต่อหุ้น)
3.) รายได้เงินปันผลที่เป็นไปได้จากการถือหุ้น 9.9% ใน Thappline ประมาณ 59 ล้านบาท (บนสมมติฐานอัตราการจ่ายปันผลที่ 40% และกำไรปี 2567ของ Thappline ที่ 1.5 พันล้านบาท)
ด้าน บล.เคจีไอ ประเมินว่า การเข้าซื้อกิจการน่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2567 ประเมินกำไรจากธุรกิจใหม่ราว 800-1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ คิดเป็น 10-13% ของกำไรปี 2567 โดยปัจจุบันราคาหุ้นซื้อขายที่ระดับ PE ต่ำเพียง 5-7 เท่า โดยคาดว่า Forward PE ปี 2566 จะอยู่ที่ 8.3 เท่า ทั้งนี้ ประเมินว่าบริษัทจะจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังปี 2565 ราว 0.76 บาทต่อหุ้น หรือ คิดเป็น Dividend Yield 6.3%