หุ้นลีสซิ่ง – ออโต้ แรงข้ามปี กระแสยานยนต์(อีวี) กระหึ่ม

หุ้นลีสซิ่ง – ออโต้  แรงข้ามปี    กระแสยานยนต์(อีวี) กระหึ่ม

เทรนด์ยาว และต่อเนื่องสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ได้รับแรงหนุนจากภาครัฐด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังรวมไปถึงการตบเท้าเปิดตัวของค่ายยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ในไทยที่เขย่าตลาดไทยได้แบบดีเกินคาด

บรรยากาศที่ Tesla  จากสหรัฐเคาท์ดาวน์เปิดตัวรุ่น และราคาในไทยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์แห่จองรถ กันกระหน่ำด้วย "ยอดจองแตะ 5,000 คัน"    โดยการจองใช้เงินมัดจำเพียง 4,000 บาท ซึ่งจะส่งมอบลูกค้าล็อตแรก 1,500 คัน ภายในเดือนก.พ. 2566 เริ่มที่ 2 รุ่นแรก คือ Model 3 และ Model Y ด้วยราคาเริ่มต้น  1,759,000 บาท

ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน BYD ที่เปิดตัวต.ค.ที่ผ่านมา และเปิดให้ จองรถ EV เดือนพ.ย. เกิดปรากฏการณ์ต่อคิวเพื่อจองสิทธิด้วยตัวเองหน้าโชว์รูมก่อนเที่ยงคืน เมื่อรวมกับเปิดรับจองผ่านช่องทางออนไลน์พบว่า "โควตาที่ได้มารวม 10,000 คัน เต็มจำนวนที่กำหนด" ทำให้บริษัทต้องประกาศหยุดรับจองชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.

ส่วนการส่งมอบรถจะสามารถส่งมอบได้ประมาณ 6,000 คันในปีนี้ และจะส่งได้ครบทั้ง 10,000 คัน ภายในเดือนก.พ. 2566

งาน Thailand International Motor Expo 2022 (มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2022) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 ธ.ค. รวมทั้งหมด 42,768 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 36,679 คัน จักรยานยนต์ 6,089 คัน โดยราคาเฉลี่ยรถยนต์ในงานอยู่ที่ 1,349,742 บาท รถจักรยานยนต์เฉลี่ย 253,699 บาท เงินหมุนเวียนในงานราว 5.1 หมื่นล้านบาท และมีผู้เข้าชมงาน 1,335,573 คน 

เรียกได้ว่า ยานยนต์อีวี กลับมากระหึ่มส่งท้ายปี และแรงข้ามปี จากการส่งมอบของค่ายรถต่างๆ รวมไปถึงค่ายยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี  บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมส่งสัญญาณนำโมเดลมาจำหน่ายในไทย

โดยบริษัทจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร และลดภาษีสรรพสามิต ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ สำหรับการนำเข้ารถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: BEV) ในปี 2565 - 2566 และผลิตรถยนต์ BEV ในปี 2565 - 2568

จากยอดขายจากการเปิดตัวบวกกับแรงส่งเสริมจากภาครัฐ ตั้งเป้าหมายรถ EV จะมีสัดส่วน 30% ในปี 2573  รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV - ZeroEmission Vehicle) จำนวน 725,000 คัน หรือ 30% ของการผลิตยานยนต์ไทย ในปี พ.ศ. 2573 เพื่อเอื้อให้บรรลุเป้าหมาย อาทิ แบตเตอรี่ ปีละ 40 กิกะวัตต์อาวร์ ทำให้ปลุกชีพหุ้นที่เกี่ยวข้องให้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง  

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มาตรการของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ด้วยการลดอากรนำเข้า  บวกกำลังผลิตที่ต้องทดแทนการนำเข้าพอที่จะจูงใจให้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV ที่ 12,000 แห่ง ปรับปรุงระบบสายส่งให้เป็น Smart Grid เพื่อให้คล่องตัว และยืดหยุ่นตามความต้องการที่เคลื่อนที่ใช้ของรถอีวี

ปัจจุบันไทยยังไม่มีการผลิตรถยนต์ BEV ซึ่งปัจจุบันเป็นรถนำเข้า100% ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จะต้องมีโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยอีก 2-3 ปีข้างหน้า คือ ในปี 2567-2568 บริษัทที่เข้ารับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เช่น ค่ายรถยนต์ MG ,GWM, BYD , PTT & Foxconn

แนวโน้มปี 2566 ประเมินยอดขายรถ BEV จะเพิ่มเป็น 25,000-30,000 คัน เติบโต 150-200% แรงหนุนจากมาตรการส่งเสริมรถ BEV ของรัฐบาลจะทำให้ราคารถยนต์ถูกลงประมาณ 2.26-2.47 แสนบาท ค่ายรถมีการเปิดตัวรถ BEV มากขึ้น และมีการส่งมอบรถยนต์ได้มากขึ้น

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์ต่างๆ รวมประมาณ 3 ล้านคัน ส่วนใหญ่จะเป็นค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น คือ โตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด มาสด้า มิตซูบิชิ โดยมีค่ายรถยนต์จากประเทศจีนเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยแล้ว คือ GWM กาลังการผลิต160,000 คัน และ MG 100,000 คัน

บล.โนมูระ พัฒนสิน  เฉพาะจำนวน BEV เพิ่มขึ้น จิตวิทยาบวกต่อกลุ่มยานยนต์ (AH, STANLY, SAT) และกลุ่มสินเชื่อรถจักรยานยนต์ (TK, NCAP) หากแต่ยังมีประเด็นกรณีกรมสรรพสามิตเตรียมออกมาตรการลดภาษีแบตเตอรี่เหลือ 1% จากเดิม 8% ครอบคลุมรถขนาดใหญ่ เรือไฟฟ้า และแบตเตอรี่ที่ใช้กับโซลาร์เซลล์ จิตวิทยาบวกต่อกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่าซื้อ (SAWAD, TISCO), ประกัน (TVI), EV+Solar Cell Ecosystem (OR, GPSC, GULF, EA, GUNKUL)

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์