ที่สุดตลาดหุ้นไทย ปี2565 ปัจจัย "เงินเฟ้อ" กดดัน (ตอนที่1)

ที่สุดตลาดหุ้นไทย ปี2565 ปัจจัย "เงินเฟ้อ" กดดัน (ตอนที่1)

ปี2565 ที่สุดของความผันผวนทั้งปัจจัยการลงทุนไปจนถึงผลตอบแทนทุกสินทรัพย์ที่เข้าสู่ตัวเลขติดลบอัตราที่สูงมากยกเว้น “เงินดออลลาร์” ทำผลตอบแทนได้ชนะได้ทุกสินทรัพย์ก็ว่าได้ จึงทำให้ที่สุดของตลาดหุ้นในปีนี้มาจากผลสะท้อนของการดำเนินนโยบายสุดโต่ง

@ “ เงินเฟ้อ” ตัวแปรหลัก

ยกตำแหน่งตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดแอฟเฟคกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกลายเป็นอันดับ 1 ในที่สุดของตลาดหุ้นไทยและไปถึงตลาดหุ้นโลก หลังทั่วโลกเผชิญความหวาดกลัวสงครามโลกครั้งที่ 3 หลัง “รัสเซีย –ยูเครน” เผชิญหน้ากันและมีชาติยุโรปและสหรัฐเข้ามาแทรกแซง จนเกิดการปะทะกันทั้งทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ

โดยมีผลตรงสินค้าคอมมูนิตี้ราคาน้ำมันที่ขึ้นไปแตะ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามมาด้วยค่าการกลั่น ราคาปิโตรเคมี และสินค้าซอฟคอมมูนิตี้ที่ต่างพาเหรดขึ้นแบบไม่พัก จนทำให้ราคาสินค้าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ทยอยขึ้นรายเดือน ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพีคสุดรอบ 40 ปี แตะ 9.1 % เดือนก.ค. แ ละยูโรโซนทะลุ 10.7 % ต.ค. สถิติใหม่นับตั้งแต่มีการเก็บตัวเลขยูโรสแตท

@ “ดอกเบี้ย” ขาขึ้นทั่วโลก

การมาของ เงินเฟ้อพุ่ง แบบไม่ทันตั้งตัวทำให้ธนาคารกลางโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จึงต้องปรับทิศทางนโยบายการเงินด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแทนการคงอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้ภาพที่ผ่านคลายมาตรการโควิด กระตุ้นเศรษฐกิจ กลับมาอยู่ในโหมดเข้มงวดและระมัดระวังไม่ให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นและทำให้เศรษฐกิจจากฟื้นกลายเป็นฟุบตามมา

กลายเป็นว่านอกจาก FED แล้วที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75 % ถึง 4 ครั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที ซึ่งผลที่ตามมาทำให้มีการดึงเม็ดเงินเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงหุ้น ตลาดคริปโทเคอเรนซี่ ตราสารหนี้ ไหลออกเทขายเพื่อไปพักและซื้อเงินสกุลดอลลาร์แทน

ด้านเศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันไม่แพ้กันเพราะ เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ที่มีการนำเข้าจึงทำให้เผชิญแรงกดดัน “ค่าครองชีพ” ต่างต้องการปรับขึ้นแทบทุกราคาสินค้า และบริการ จนเป็นที่มาภาครัฐต้องเข้ามาพยุงช่วยเหลือ และทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบระดับแสนล้านบาทและกดดันภาคธุรกิจทันที

@ “ดอลลาร์” ผลตอบแทนสูงสุดอันดับ 1

ปี 2565 แทบจะไม่มีสินทรัพย์ไหนจะเอาชนะหรือแข็งค่าได้เท่ากับสกุลเงินดอลลาร์อีกแล้ว เพราะความต้องการถือครองดอลลาร์ผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นหรือพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ทำให้เกิด Inverted yield curve หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุน้อยกว่าสูงกว่าอายุมากกว่าคือ 10ปี ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่ายิ่งเกิดขึ้นนานเท่าไรยิ่งเป็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่จะตามในอนาคตมากเท่านั้น

ขณะที่ผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ต่างพากันเอาตัวแทบไม่รอด ซึ่งตลาดหุ้นไทย สิ้นปี 2564 ดัชนีปิดที่ 1,657.62 จุด ปัจจุบันดัชนีปิดที่ 1,626.80 จุด (26 ธ.ค. 65) เท่ากับ ผลตอบแทนปี 2565 ติดลบ1.85 % จากดัชนีปิดสูงสุดที่ 1,713.20 จุด (ก.พ.65) และปิดต่ำสุด 1,533.37 จุด (ก.ค.) จากปี 2564 ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ +14.36% จากดัชนีปิดสิ้นปี 1,657.62 จุด เทียบกับปิดสิ้นปี 2563 ที่ 1,449.35 จุด

ส่วนค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ารุนแรงหลุด 37 บาทในรอบ 16 ปี และเกือบหลุดที่ 39 บาท และถ้าเทียบกับช่วงต้นปี ที่บาทอยู่ 32.00 เท่ากับอ่อนค่าลงมา 20.90 % ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่แถว 34.76 บาท จากการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวถือว่าเป็นตัวนำเข้ารายได้เงินตราต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่และเริ่มแบ่งเป็น 2 ฝั่ง อย่างชัดเจนระหว่างเศรษฐกิจถดถอย (สหรัฐ-ยุโรป) และเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว (จีน -เอเชีย) จึงทำให้ทิศทางการลงทุนจะปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด

ขณะที่ด้าน “เรียลเซกเตอร์” และภาคธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงและพลิกตัวแบบกลับด้านที่สนใจปี 2565 ซึ่งเป็นธุรกิจอะไรและกระแสอะไรติดตามต่อได้ “ที่สุดตลาดหุ้นไทย 2565 ตอนที่ 2”