MAKRO ชวดเข้า MSCI แต่พื้นฐานยังแกร่ง!
สัญญาณการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคึกคักขึ้นอย่างมากหลังเปิดประเทศ
ล่าสุด รัฐบาลคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้มีโอกาสทะลุ 30 ล้านคน หรือ คิดเป็น 3 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะตลาดจีนที่เปิดประเทศเร็วกว่าคาด ยิ่งหนุนให้บรรยากาศคึกคักขึ้นไปอีก ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้านักท่องเที่ยวจีนปีนี้แตะ 5 ล้านคน เทียบกับปี 2562 ที่ทำสถิติสูงสุดไว้ราวๆ 11 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรกรกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” ที่เปิดให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ มาลดหย่อนภาษีสูงสุด 40,000 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566 น่าจะช่วยทำให้การใช้จ่ายคึกคักขึ้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค. 2566 ขยายตัว 5.02% ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันและอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนคึกคักกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ในกรอบ 2-3%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับเงินเฟ้อที่ชะลอตัว กลายเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคในประเทศ เช่น กลุ่มพาณิชย์ หนึ่งในบริษที่โดดเด่น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ซึ่งมีทั้งธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” และค้าปลีกของ “โลตัส” ในประเทศไทยและมาเลเซีย หลังเพิ่งมีการปรับโครงสร้างเข้าซื้อการกิจการโลตัสไปเมื่อช่วงปลายปี 2564
จากนั้นตามด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป (PO) ราคาหุ้นละ 43.50 บาท เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, กลุ่มผู้มีอุปการะคุณของบริษัท นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อย โดยได้รับเงินระดมทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท นำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พร้อมๆ กับการเดินหน้าเพิ่มสภาพคล่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง” ทยอยทำรายการบิ๊กล็อตออกมา จนเมื่อปลายปี 2565 จำนวน Free Float เพิ่มเป็น 15.04% ตรงตามเกณฑ์ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย 110,182 ราย
โดยทางบริษัทมั่นอกมั่นใจว่า หลังปลดล็อก Free Float แล้ว จะทำให้หุ้น MAKRO ได้รับคัดเลือกเข้าไปคำนวณในดัชนีสำคัญต่างๆ ระดับโลก ซึ่งจะช่วยเติมเสน่ห์ ดึงดูดกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะต่างชาติที่มักจะลงทุนล้อไปกับดัชนีฯ เข้ามาลงทุนในหุ้น MAKRO
บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดหากหุ้น MAKRO ได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI รอบเดือน ก.พ. นี้ (ประกาศผล 9 ก.พ. และมีผลราคาปิดของวันที่ 28 ก.พ.) หนุนเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า 110 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 3.6 พันล้านบาท เทียบกับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 7 วัน
แต่สุดท้ายแล้ว MAKRO ต้องผิดหวัง หลังชวดเข้า MSCI โดยหุ้นที่ได้รับคัดเลือกเข้า MSCI Global Standard Index กลายเป็นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU
งานนี้เรียกว่าหักปากกาเซียนหลายสำนัก เลยทำให้หุ้น MAKRO ร่วงทันที ปิดการซื้อขาย (10 ก.พ.) ที่ 40.25 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 3.01%
อย่างไรก็ตาม แม้จะอดเข้า MSCI แต่แนวโน้มธุรกิจยังแกร่ง บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดกำไรปกติไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 2.48 พันล้านบาท เติบโต +54% QoQ โดยยอดขายสาขาเดิมธุรกิจค้าส่ง +9% และโลตัส +1% ประเมินกำไรปกติปี 2565 ที่ 7.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +4% YoY และกำไรปี 2566 โตสูง +75% เป็น 1.3 หมื่นล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากการ synergy ระหว่างธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกมากขึ้น
ด้านบล.ดาโอ (ประเทศไทย) ประมาณการกำไรปกติไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 2.4 พันล้านบาท หดตัว -3% YoY จากการเพิ่มขึ้นของ SG&A (+27% YoY) และดอกเบี้ยจ่าย (+71% YoY) หลักๆ เป็นผลมาจากธุรกิจค้าปลีก (Lotus’s) และหนี้สกุลดอลลาร์ซึ่งอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ยังเป็นขาขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง -10% YoY จากไตรมาส 4 ปี 2564 ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยขยายตัวถึง +71%
แต่กำไรปกติฟื้นตัวดีต่อเนื่อง +51% QoQ จากรายได้ที่ขยายตัว +7% QoQ และ GPM ปรับตัวดีขึ้น +20bps มาอยู่ที่ 17% ตามการรับรู้ธุรกิจค้าปลีกเข้ามาเต็มไตรมาส
โดยฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น +68% YoY คาดว่าจะเห็นการเติบโตดีตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 จากยอดขายสาขาเดิมที่ขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก, รายได้ค่าเช่าปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนที่ลดลงจาก synergy กับบริษัทในเครือ