ก.ล.ต. กล่าวโทษ 18 ราย ปั่นหุ้น MORE 'เฮียม้อ' โดนด้วย
ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 18 ราย นำโดย "อภิมุข- เฮียม้อ" ต่อ บก.ปอศ. กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE
ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 18 ราย ได้แก่ 1. นายอภิมุข บำรุงวงศ์ 2. นายเอกภัทร พรประภา 3.นายอธิภัทร พรประภา (4) นางอรพินธุ์ พรประภา (5) นายประยูร อัสสกาญจน์ (6) นายวสันต์ จาวลา (7) Mr. Shubhodeep Prasanta Das (8) บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด (9) บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด (10) นายสมนึก กยาวัฒนกิจ (11) นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ
(12) นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (13) นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์ (14) นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์ (15) นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล (16) นายมั่นคง เสถียรถิระกุล (17) นายโสภณ วราพร และ (18) นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE
ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมและประสานการทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และ บก.ปอศ. เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พบว่า ผู้กระทำความผิดทั้ง 18 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว ทางเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงช่องทางและสถานที่ในการส่งคำสั่งซื้อขาย ได้แบ่งหน้าที่กันในการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในวันที่ 10 พ.ย. 2565 โดยส่งคำสั่งซื้อขายที่มีการจับคู่ซื้อขายกันในปริมาณมาก
ทำให้ราคาเปิดของหลักทรัพย์ MORE สูงกว่าราคาปิดของวันก่อนหน้า อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ MORE อันเข้าข่ายเป็นฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) ประกอบมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 18 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้ประสานความร่วมมือกับ บช.ก. โดย บก.ปอศ. ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะร่วมมือกับพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบการซื้อขายในช่วงเวลาอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย