กองทุน ESG แห่ขายหุ้น Tencent หลังหลุดโผเกณฑ์ UN
กองทุน ESG ตบเท้าเทขายหุ้น Tencent เนื่องจากบริษัทวิจัยด้าน ESG และจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กร ย้าย Tencent ไปอยู่ในหมวดบริษัทที่มาตรฐานไม่สอดคล้องกับหลักการของยูเอ็น กูรูชี้เพราะมาตรการปราบปรามบริษัทเทคฯ อย่างหนักของจีน
Key Points
- กองทุน ESG จำนวนหนึ่งเทขายหุ้น Tencent
- เนื่องจากบริษัทวิจัยด้าน ESG และจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กร ย้าย Tencent ไปอยู่ในหมวดบริษัทที่มาตรฐานไม่สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติ (UN)
- กูรูชี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่งของรัฐบาลกลางปักกิ่ง ส่วนทางกับในภูมิภาคเอเชียที่มองบวกต่อหุ้นเทคโนโลยีจีน
ย้อนไปช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กองทุน ESG ซึ่งเป็นกองทุนรักษ์โลกทำเพื่อสังคมและมีบรรษัทภิบาล หลายสิบกองเทขายหุ้น Tencent Holdings Ltd. มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท เพราะผู้จัดการกองทุนเหล่านั้นกังวลกับมาตรการเซนเซอร์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งแนวคิดความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่งของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี
โดยเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว Sustainalytics บริษัทวิจัยด้าน ESG และจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กร ลดอันดับ Tencent ไปอยู่ในหมวดหมู่ ‘ไม่สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติ’ จนทำให้ AXA Investment Managers SA, Candriam และ Storebrand Asset Management เทขายหน้าหุ้นดังกล่าว รวมทั้งขายหน้าหุ้นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงอีก 40 หุ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.96 หมื่นล้านบาท
แม้กองทุน ESG จำนวนมากยังคงถือหุ้น Tencent และหน้าหุ้นบริษัทอินเทอร์เน็ตของจีนไว้ ทว่าการที่กองทุนจำนวนหนึ่งเริ่มเทขายหน้าหุ้นดังกล่าวออกมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Tencent และบริษัทเทคโนโลยีในจีนได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากทิศทางการบริหารประเทศของสี จิ้นผิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้นักลงทุนต่างตั้งคำถามสำคัญว่า “หุ้นบริษัทเทคฯ ในจีนยังน่าสนใจอยู่หรือไม่”
ไซมอน แมคมาฮอน หัวหน้าฝ่ายวิจัย ESG ระดับโลก ของ Sustainalytics กล่าวว่า “รัฐบาลจีนใช้มาตรการเซนเซอร์เนื้อหา รวมทั้งจับตาดูประชาชนเหมือนเป็นกล้องวงจรปิดมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการแบบนี้ระบาดหนักราวกับเป็นศาสนาหนึ่งของจีนก็ว่าได้ และจากการจัดอันดับของเรา หลายบริษัทในจีน ไม่ว่าจะเป็น Morningstar Inc, Baidu Inc. และ Weibo Corp. ก็ถูกดาวน์เกรดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับ Tencent ซึ่งบริษัทที่กล่าวมาต่างมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน”
ด้าน Storebrand บริษัทที่ให้บริการทางการเงิน สัญชาตินอร์เวย์ ระบุว่าเพิ่งจะขายหุ้น Tencent ออกไปเนื่องจากการจัดอันดับของ Sustainalytics ในขณะที่ Alecta บริษัทจัดการบำนาญซึ่งบริหารเงินกว่า 1.07 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.531 ล้านล้านบาท ให้เหตุผลว่าขายหุ้นดังกล่าวออกเนื่องจาก “รัฐบาลเริ่มเข้าไปแทรกแซงธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น”
คารินา ซิลเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายธรรมาภิบาลและความยั่งยืนของ Alecta กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ไม่มีการลงทุนโดยตรงกับ Tencent แล้ว
“เราไม่สามารถประเมินทิศทางและความเสี่ยงของธุรกิจในจีนได้เลย และเรายืนยันว่ามาตรการความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่งของจีนกำลังพาประเทศไปผิดทาง”
ในขณะที่ โฆษกของ Candriam บริษัทบริหารสินทรัพย์ สัญชาติอเมริกัน และผู้จัดการกองทุนในหมวด ‘มาตรา 9 ของสหประชาชาติ’ หรือกองทุนที่เน้นลงทุนในผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก ด้วยมูลค่าในพอร์ต 1.53 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.049 ล้านล้านบาท ระบุว่า แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก ทว่าท้ายที่สุดบริษัทฯ ตัดสินใจขายหุ้น Tencent ออกไปทั้งหมดตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเหตุผลหลักคือการที่ Tencent ไม่สามารถรักษามาตรฐานด้าน ESG เอาไว้ได้
ทั้งนี้ Tencent กล่าวผ่านอีเมลว่าถึงบลูมเบิร์กว่า “ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระดับโลก เราทำทุกวิถีทางในการรักษามาตรฐานสูงสุด รวมทั้งนโยบายและหลักการของบริษัทฯ ยังสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ มากไปกว่านั้นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานคือค่านิยมหลักที่เรายึดถือ ท้ายที่สุดเราหวังว่าจะรักษาความไว้วางใจของผู้ใช้งานและมอบประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมให้กับทุกคนอย่างต่อเนื่องต่อไป”
ด้าน Baidu และ Weibo ยังไม่ตอบรับการสัมภาษณ์ ในขณะที่ AXA Investment Managers ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
อนึ่ง นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนจำนวนหนึ่งต่างถกเถียงกันว่า เนื่องด้วยผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อเศรษฐกิจโลก ผู้ลงทุนด้าน ESG ควรนำประเทศที่เป็นเผด็จการออกจากการลงทุนแบบดังกล่าวหรือไม่
โดย Mirova บริษัทจัดการสินทรัพย์ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งบริหารพอร์ตมูลค่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.57 แสนล้านบาท ระบุว่า กองทุนฯ ได้ขึ้นบัญชีดำสินทรัพย์ในจีนบางส่วน พร้อมชี้ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนคือตัวชี้วัดว่า
“เราไม่มีทางเจอการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”
การรีบาวด์ของบริษัทเทคฯ
อย่างไรก็ดี กิริช นาเอีย นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งอเมริกา (BofA) และคณะ ระบุเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า นักลงทุนบางส่วนเท่านั้นที่เห็นด้วยกับวิธีคิดข้างต้นเพราะในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กองทุน ESG ในเอเชียเข้าซื้อหุ้นจีนเพิ่มขึ้น 5.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.881 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวใกล้เข้าสู่เส้นมาตรฐาน (A Neutral Position) ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว ท่ามกลาง Sentiment นักลงทุนในภูมิภาคเอเชียต่อประเทศจีนที่ปรับตัวดีขึ้น
น่าสนใจว่า หน้าหุ้นเทคโนโลยีของจีนพุ่งสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่รัฐบาลกลางปักกิ่งมีท่าทีที่เป็นมิตรมากขึ้นต่อบริษัทเทคโนโลยี คาดว่าเพราะรัฐบาลต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยดัชนี Hang Seng Tech Index ของฮ่องกงขยับตัวขึ้น 48% จากเดือนต.ค. ในขณะที่หุ้น Tencent พุ่ง 90%จากช่วงที่กล่าวมา
อย่างไรก็ตาม เฮลเลน เอมเบียกัว ผู้อํานวยการฝ่ายวิจัยของ Calvert Research & Management บริษัทวิจัยเพื่อการลงทุนสัญชาติอเมริกันที่มุ่งเน้นด้านการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบ (Responsible Investing) ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนมูลค่า 33 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.089 ล้านล้านบาท ของ Morgan Stanley กล่าวว่า บริษัทฯ เทขายหน้าหุ้น Tencent เนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ และโดยปกติแล้ว Calvert Research & Management มักระมัดระวังการเข้าซื้อหุ้นจีนที่มีความโดดเด่น อย่าง Tencent เนื่องจากเสี่ยงที่รัฐบาลอาจจับตาบริษัทดังกล่าวมากเป็นพิเศษ
“ผมมองว่าปัจจุบันกองทุนจำนวนมากต่างคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputation Risk) เป็นสำคัญ ในขณะที่แนวคิดแบบ ESG ก็เริ่มกลายเป็นแนวคิดแบบเมนสตรีมในการทำธุรกิจมากขึ้นเช่นเดียวกัน” เฮลเลนทิ้งท้าย
ด้านเว็บไซต์อินเวสติงดอทคอม รายงานสภาวะหุ้น Tencent วันนี้ เวลา 11.40 ว่า ปรับตัวลดลง 1.80 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 14.12 บาท) หรือ 0.50% มาอยู่ที่ 360 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 1589.45 บาท) และราคาหุ้นดังกล่าวผันผ่วนอย่างมากในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยแตะจุดต่ำสุดที่ประมาณ 200 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 884.10 บาท) ช่วงเดือนพ.ย.และสูงสุดประมาณ 425 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 1878.72 บาท) ช่วงต้นปีที่ผ่านมา