รัสเซียหันใช้ ‘รูเบิล-หยวน’ มากขึ้นหลังตะวันตกคว่ำบาตร ห่วงทำศก.โลกแยกตัว
รัสเซียกลับมาใช้สกุลเงินรูเบิลและหยวนมากขึ้น หลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตร และยังโดน ‘SWIFT’ ตัดการเชื่อมต่อสกุลเงิน กูรูเตือนจีนและรัสเซียอาจพึ่งพิงกันและกันจนทำให้เศรษฐกิจโลกแยกตัว ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดลง และมาตรการคว่ำบาตรอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
Key Points
- รัสเซียเริ่มกลับมาใช้สกุลเงินรูเบิลและหยวนมากขึ้นหลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตร
- สวิฟต์ แพลตฟอร์มสำคัญในการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกตัดการเชื่อมต่อของระบบภายในกับธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียหลายแห่ง
- กูรูเตือนจีนและรัสเซียอาจพึ่งพิงกันและกันจนทำให้เศรษฐกิจโลกแยกตัว ส่งผลให้มาตรการคว่ำบาตรอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
จากกรณีที่ประเทศในแถบยุโรปและประเทศอเมริกาคว่ำบาตรรัสเซียจนทำให้เข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์และยูโรยากขึ้น วันนี้ (23 ก.พ.) สำนักข่าวนิเคอิเอเชีย รายงานว่า รัสเซียเริ่มกลับมาพึ่งพาสกุลเงินรูเบิลของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มอัตราการใช้สกุลเงินหยวนสำหรับการชําระเงินแบบข้ามพรมแดน
โดยเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ‘The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication’ หรือ สวิฟต์ตัดการเชื่อมต่อระบบภายในกับธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียหลายแห่งจากเหตุผลด้านการทำสงคราม ทั้งนี้ สวิฟต์คือเครือข่ายและฟันเฟืองสำคัญในการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศจากธนาคารทุกแห่งสะดวกมากขึ้น
ด้าน ธนาคารกลางของรัสเซีย รายงานว่า สัดส่วนของการชำระเงินในภาคการส่งออกของเดือนก.ย.ปีที่แล้วอยู่ที่ 34% สำหรับสกุลเงินดอลลาร์และอยู่ที่ 19% สำหรับสกุลเงินยูโร ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากเดือนม.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนมาตรการคว่ำบาตรจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ที่ 52% และ 35% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การชำระเงินบางรายการเช่นค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อขายแก๊สผ่าน Gazprombank ธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซียจากขนาดสินทรัพย์ และบริษัทย่อย (Subsidiary) ของบริษัทผลิตน้ำมันและแก๊สของทางการ ยังทำธุรกิจกรรมผ่านสกุลเงินดอลลาร์และยูโรอยู่ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นของสวิตฟ์และข้อยกเว้นของบัญชีรัสเซียในธนาคารตะวันตกด้วย
ทั้งนี้ รัสเซียเริ่มเพิ่มสัดส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้สกุลเงินของตัวเองและหยวนมากขึ้น โดยแตะระดับ 47% เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว
ปัจจุบัน Gazprom ซื้อขายเชื้อเพลิงไปจีนด้วยสกุลเงินหยวนและรูเบิล จากเดิมที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งผู้นำเข้าเชื้อเพลิงทางฝั่งยุโรปบางรายต่างซื้อขายสินค้าดังกล่าวด้วยสกุลเงินรูเบิลเช่นเดียวกัน และการที่ยุโรปคว่ำบาตรรัสเซียเป็นปัจจัยกระตุ้นยอดการส่งออกไปภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้ใช้สกุลเงินหยวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจากสำนักข่าวนิเคอิเอเชีย ระบุว่า เจ้าของธุรกิจจำนวนหนึ่งอยู่ในช่วงสำรวจทางเลือกการชำระเงินด้วยระบบอื่นนอกเหนือจากระบบของสวิฟต์ โดยนับตั้งแต่ช่วงแรกที่รัสเซียบุกเข้าประเทศยูเครน ธุรกรรมต่อวันในระบบการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน หรือ Cross-border Interbank Payment System (CIPS) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 50% แตะ 21,000 รายการในม.ค.ที่ผ่านมา
ริเอะ นาคาดะ จากสถาบันวิจัย Daiwa Institute of Research สัญชาติญี่ปุ่น กล่าวว่า
“ปกติ CIPS รับทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินหยวนเพียงสกุลเงินเดียว ดังนั้นหากถามในแง่การแข่งขัน SWIFT ค่อนข้างได้เปรียบในแง่ของความหลากหลายของสกุลเงิน อย่างไรก็ตาม CIPS อาจเป็นที่นิยมขึ้นมาในกลุ่มประเทศที่สหรัฐหรือประเทศในแถบยุโรปคว่ำบาตร”
อัตราการไหลเข้าของสกุลเงินดอลลาร์และยูโรที่ลดน้อยลงส่งผลให้ขนาดของเงินทุน (Availability) ของสกุลเงินต่างชาติในรัสเซียต่ำลง และระหว่างเดือนมี.ค.ถึงต.คสินเชื่อสกุลเงินต่างประเทศที่ปล่อยให้กับธุรกิจลดลง 13% ในขณะที่สินเชื่อในสกุลเงินรูเบิลเพิ่มขึ้น 11%
ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติออกจากตลาดรัสเซียเกือบหมดแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติคิดเป็นกว่า 10% ของธุรกรรมพันธบัตรรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งช่วงแรกของการเข้ายึดยูเครน รัฐบาลรัสเซียได้ออกพันธบัตรแบบเฉพาะสกุลเงินรูเบิล ทว่าจำนวนผู้ชาวต่างชาติผู้ถือพันธบัตรดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 10% จากเดิมที่อยู่ในระดับ 20%
โชตะ อากิโมโตะ จาก SMBC Nikko Securities บริษัทให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า “สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศระงับการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลรัสเซีย จนทางการไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากระดมทุนภายในประเทศ”
ทางเลือกในการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซียน้อยลงทุกขณะ เช่น ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา Mizuho Bank ธนาคารสัญชาติญี่ปุ่นแจ้งต่อลูกค้าว่าให้ใช้สกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์ในการโอนเงินไปยังรัสเซีย หลังจากมีข่าวว่ารัสเซียจะหยุดประมวลผลการโอนเงินของลูกค้าในสกุลเงินดอลลาร์
โทรุ นิชิฮามะ จาก Dai-ichi Life Research Institute สถาบันวิจัยด้านการเงินและเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า “เศรษฐกิจรัสเซียและจีนเริ่มค่อยๆ เกี่ยวโยงกันมากขึ้น และผมมองว่ามีความเสี่ยงสูงที่ระบบการเงินโลกจะแตกเป็นส่วนๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดลง รวมทั้งการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกก็จะมีผลต่อทั้งสองประเทศน้อยลง คือเขาจะพึ่งพิงกันเองมากขึ้น”