ซีอีโอเจพีมอร์แกนฟันธง ‘เฟด’ เสียการควบคุมเงินเฟ้อบางส่วนแล้ว

ซีอีโอเจพีมอร์แกนฟันธง ‘เฟด’ เสียการควบคุมเงินเฟ้อบางส่วนแล้ว

เจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกนชี้เฟดเสียการควบคุมเงินเฟ้อไปบางส่วนแล้วแม้บันทึกการประชุมเฟดจะระบุว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อแบบรายเดือนชะลอตัวลง ทว่ายังต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเงินเฟ้ออยู่ในขาลงจริง

เจมี ไดมอน ประธานบริหารสูงสุด (ซีอีโอ) ของเจพีมอร์แกน บริษัทให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน กล่าวเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอยู่ในช่วงของการพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังส่งสัญญาณถึงความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

“ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าผมเคารพคุณเจอโรม พาเวลล์ ประธานเฟดอย่างสุดซึ้ง อย่างไรก็ตามผมมองว่าขณะนี้เรา (สหรัฐ) สูญเสียการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไปส่วนหนึ่ง” ไดมอนให้สัมภาณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเพียงหนึ่งวันหลังจากเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. ซึ่งสมาชิกจำนวนหนึ่งยังคงมีมติในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้ออยู่

ทั้งนี้ รายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า สถิติข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อแบบรายเดือนได้ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี 

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวยังบันทึกว่าเฟดจำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมุติฐานข้างต้นจนกระทั่งมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในขาลงแท้จริง

ไดมอน กล่าวต่อว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไว้อีกระยะหนึ่งเนื่องอาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการดึงอัตราเงินเฟ้อให้มาอยู่ที่ระดับ 2% ถึงกระนั้นซีอีโอของเจพีมอร์แกนก็กล่าวว่าบริษัทฯ ยังไม่เห็นเค้าของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เนื่องจากได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง

“เศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบันเพอร์ฟอร์มได้ค่อนข้างดี ลูกค้าจำนวนมากมีเงินสดจำนวนมากในมือเพื่อจับจ่ายใช้สอย และมีตำแหน่งงานมากมายรองรับแรงงานในตลาดอยู่ ทั้งหมดคือสิ่งที่เห็นในวันนี้ สิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เรารู้ว่ามีความไม่แน่นอนรออยู่ในอนาคต ซึ่งผมมองว่ามันคือเรื่องปกติ”

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า ความคิดเห็นข้างต้นของไดมอนแตกต่างไปจากความคิดเห็นเดิมของเขาในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยขณะนั้นเขาฟันธงว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู้สภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 6 ถึง 9 เดือนข้างหน้า ซึ่งก็คือช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยให้เหตุผลว่า 

“อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความมั่งคั่งของผู้บริโภคลดต่ำลงซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดรีเซสชัน”

 

ด้านเฟดไม่ตอบรับการขอสัมภาษณ์ในประเด็นข้างต้น

 

ซีอีโอเจพีมอร์แกนฟันธง ‘เฟด’ เสียการควบคุมเงินเฟ้อบางส่วนแล้ว อนึ่งเว็บไซต์ Statista รายงาน ‘อัตราเงินเฟ้อรายเดือนของสหรัฐ ตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 ถึงม.ค  2566 ว่าแตะจุดสูงสุดในเดือนก.ค. ปี 2565 อยู่ที่ 9.1% และในเดือนม.ค.ปีนี้อยูที่ 6.4%