บล.บียอนด์รุก'ธุรกิจเวลท์' ขยายฐานรายได้ ตั้งรับรัฐเก็บภาษีขายหุ้น
"บล.บียอนด์" รุกธุรกิจเวลท์ หวังรายได้ชดเชยค่าคอมลดลง รับมือรัฐเก็บภาษีขายหุ้น รุกปล่อยมาร์จินโลนแตะ"พันล้าน" มั่นใจรายได้ปีนี้ 870 ล้าน- พลิกมีกำไร ด้านไทยสมายล์บัส ปีนี้รับรถบัสอีวีเพิ่มดันทั้งปีแตะ3 พันล้าน เล็งขายคาร์บอนเครดิต หวังรายได้หลักพันล้าน
ในปี2566 ถือเป็นอีกปีที่มีความท้าทายต่อธุรกิจหลักทรัพย์ จากภาครัฐเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) อัตรา0.10% แม้ในช่วงแรกจะเก็บที่0.05% ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(เฟทโก้)ประเมินว่าจะปรับตัวลงไปเหลือระดับ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากเฉลี่ย 8 หมื่นล้านบาท ทำให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นรายได้หลักของโบรกเกอร์ปรับตัวลดลง
ยิ่งเป็น "โบรกเกอร์ขนาดเล็ก”ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ขยายฐานรายได้เข้ามาชดเชยกับรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะปรับตัวลดลง ซึ่งหนึ่งในโบรกเกอร์ขนาดเล็ก อย่างบริษัทหลักทรัพย์(บล.)บียอนด์ จำกัด (มหาชน)หรือ BYD (เดิมชื่อ บล.เออีซี) ที่ต้องจัดกระบวนทัพใหม่ หลังประสบปัญหาสภาพคล่องเมื่อ 25 พ.ค. 2563 “เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC)”ต่ำกว่าศูนย์ จนถูกระงับประกอบธุรกิจชั่วคราว
ประกอบกับได้แม่ทัพใหม่ “ออมสิน ศิริ”มาช่วยจัดบ้านใหม่ จากขาดทุนหนัก 300.61 ล้านบาทในปี 2563 มาเหลือ 134.99ล้านบาท ในปี2564 และงวด9เดือนปี2565 เหลือขาดทุน105.04 ล้านบาท รวมถึงมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ คือ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เข้ามาหนุนการเติบโต
ออมสิน ศิริ ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ"กรุงเทพธุรกิจ”ถึงแผนธุรกิจในปี2566 ว่า จากที่ภาครัฐเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ทำให้บริษัทได้มีการศึกษาแนวทางที่จะยังคงทำให้บริษัทมีรายได้ในทิศทางที่ดีต่อไป ซึ่งสุดท้ายแล้วเรามองว่า ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth) จะสามารถชดเชยรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะปรับตัวลดลงได้
รวมถึงเชื่อว่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดีในระยะยาวของบริษัท เพราะถ้าเราสามารถคัดเลือกหุ้นและตราสารหนี้แล้วทำให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดี ลูกค้าก็พร้อมที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมให้ โดยบริษัทได้ตั้งทีม Wealth ขึ้นมาเมื่อต้นเดือนม.ค.2566 ซึ่งจะดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล(ไพรเวทฟันด์) หน้าซื้อขาย ค้าและจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (LBDU) และนายหน้าซื้อขายตราสารหนี้
โดยบริษัทเพิ่งตั้งทีมเมื่อต้นเดือนม.ค. ซึ่งปัจุบันมีทีมอยู่จำนวน 20 คน ซึ่งมีที่จะขยายเพิ่มเป็น 60 คน ภายในเดือนพ.ค.2566 โดยปีนี้คาดรายได้ธุรกิจWealth อยู่ที่ 120 ล้านบาท
“จากที่เพิ่งตั้งทีมWealth สร้างรายได้ที่ดีจากการขายตราสารหนี้ ส่วนกองไพรเวทฟันด์ ปัจจุบันมีขนาด 1 พันล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายที่จเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ภายใน3 ปี จากด้วยการขยายฐานลูกค้า และคอนเน็คชันของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่แนะนำลูกค้าให้ ส่วนตัวแทนขายหน่วยลงทุนเตรียมที่จะเริ่มปีนี้”
ออมสิน กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง โดยมี NC 2.5 พันล้านบาท ทำให้ NCR กว่า 600% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ที่ 7% ทำให้บริษัทมีเงินทุนเพียงพอจึงเตรียมเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จินโลน) เป็น 1 พันล้านบาท จากเดิมที่ปล่อย 440 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นอีกฐานรายได้ที่สำคัญ เพราะปัจจุบันที่ดอกเบี้ยมาร์จินโลนอยู่ที่ 6.2% และนอกจากมีรายได้จากดอกเบี้ยแล้วยังทำให้รายได้ค่าคอมมิชั่นเพิ่มจากการให้มาร์จินโลน
สำหรับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์นั้น เราจะไม่แข่งขันด้านราคา แต่จะเราเป็นโบรกเกอร์ที่เป็นเพื่อนนักลงทุน ซึ่งไม่ว่าตลาดขึ้นหรือลง ต้องแนะนำลูกค้าได้ว่า ควรจะตัดสินใจอย่างไร เพื่อช่วยเซฟความเสี่ยงลูกค้า จากที่เรามีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ(รุ่นเก๋า)อยู่ในตลาดมานาน รู้ว่าลูกค้าที่ติดดอยต้องแก้พอร์ตอย่างไร ซึ่งมีลูกค้าหลายคนที่เราแก้พอร์ตให้ได้สำเร็จ ซึ่งการทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่หลายๆโบรกเกอร์อยากเป็น
โดยแวลูของมาร์เก็ตติ้ง ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้จากค่าคอมมิชชั่น แต่เป็นการให้คำแนะนำ ซึ่งบริษัทมีเครื่องมือในการคัดเลือกหุ้นให้กับลูกค้า จากที่เราได้เซ็นMOU กับ SiamQuant ซึ่งมีระบบคัดเลือกหุ้นที่ดีมาก และMT5 จะเป็นเครื่องมือช่วยในการคัดเลือกหุ้นเพื่อแนะนำให้กับนักลงทุน ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่จำนวน 1.5 หมื่นบัญชี ปีนี้เราจะมีการวิเคราะห์ลูกค้า รายไหนมีศักยภาพและรายไหนที่หยุดเทรดกับเราไป ก็จะติดต่อไปเพื่อให้กลับมาเทรดกับบริษัท
ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทมีแนวโน้มที่ดี มีดีลในมือจำนวนมาก ซึ่งเป็นการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(ไอพีโอ)ปัจจุบันมีจำนวน 3 บริษัท จะยื่นไฟลิ่ง1 บริษัทในปีนี้ และอีกรายยื่นในปีหน้า ส่วนอีก1รายอยู่ระหว่างการเตรียมตัว และยังมีงานM&A พอสมควร ดังนั้นในปีนี้บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ (รวม Wealth) 370 ล้านบาท โต 2 เท่าตัว!!
ส่วนธุรกิจด้านการลงทุนที่บริษัทถือหุ้น 49% ใน บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จํากัด (ACE) ซึ่งถือหุ้น100% ในบริษัทไทยสมายล์บัส จำกัด(TSM) ซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งสาธารณะทั้งรถโดยสารไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า บริษัทจะได้รายได้ดอกเบี้ยในปีนี้จำนวน 500 ล้านบาท จากปล่อยกู้ให้กับไทยสมายล์บัส จำนวน 8,850 ล้านบาท เป็นเวลา 8 ปี ดังนั้นทำให้ทั้งปี 2566 บริษัทจะมีรายได้รวม 870 ล้านบาท และสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทไทยสมายล์บัสปีนี้ อยู่ระหว่างการปรับประมาณการใหม่ โดยรอดูผลตอบรับจากระบบตั๋วร่วม 40 บาท ที่เพิ่งโปรโมทไป และผลจากการเข้าไปซื้อ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด และเรือไฟฟ้า ประกอบกับปีนี้จะรับรถบัสไฟฟ้าเพิ่มอีก 1.8-1.85 พันคันในเดือนมิ.ย. จากสิ้นปี2565 อยู่ที่ 950 คัน หากรวมกับรถที่อยู่ระหว่างตรวจรับรถจะอยู่ที่ 1.20 พันคัน ทำให้สิ้นปี2566 จะมีรถบัสไฟฟ้าให้บริการรวม 3 พันคัน
ทั้งนี้จากที่ ไทยสมายล์บัส ให้บริการขนส่งสาธารณะด้วยรถโดยสารไฟฟ้านั้น ซึ่งปจะมีถึง 3 พันคัน ทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บริษัทมีแผนที่จะขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต หลักหลายพันล้านบาท! โดยคาดว่าจะขายได้ประมาณ 1-2 ปีนี้ โดยขณะนี้ทาง EA อยู่ระหว่างการทำโครงการ หลังจากที่ได้มีการเซ็นMOUขายให้กับมูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส
"บริษัทมีแผนนำTSM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2569 จากคาดว่าจะพลิกมีกำไรได้ในปี 2568 และTSM เรากำลังรอ ขสมก.เปิดประมูลบริหารรถไฟฟ้า จากที่มีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งประสบการณ์การเดินรถ และมีกลุ่มพันธมิตรที่ผลิตรถไฟฟ้าให้ หากชนะประมูลจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของTSM"
ออมสิน กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะเดินหน้าปรับโครงสร้างเป็น โฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company)ซึ่งได้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาทางกฎหมาย และคณะทำงาน ซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่ม.ค. โดยคาดว่าจะปรับโครงสร้างบริษัทเสร็จในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทำให้บริษัทสามารถเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นๆเพิ่มได้ เพราะ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็นกลุ่มธุรกิจให้บริการทางการเงิน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเข้าลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัป และฟินเทคคาดชัดเจนภายในปี2567