ดาวโจนส์ร่วง 336 จุด ดัชนี PCE, บอนด์ยีลด์พุ่งทุบตลาด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(24ก.พ.)ร่วงลง 336 จุด ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายหุ้น ท่ามกลางความวิตกที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 336.99 จุด หรือ 1.0% ปิดที่ 32,816.92 จุด
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 1% ปิดที่ 3,970.04 จุด
ดัชนีแนสแด็ก ร่วง 1.7% ปิดที่ 11,394.94 จุด
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ที่พุ่งขึ้นเกินคาดเป็นการตอกย้ำว่าเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาดเช่นกัน
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ในเดือนมิ.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปีนี้ โดยไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วให้น้ำหนักเพียง 2.8%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)