SJWD เข้าตากองทุน ! พร้อมใจถือหุ้นเพิ่ม ตั้งเป้าปี 70 มาร์เก็ตแคป 'แสนล้าน'
SJWD เข้าตากองทุน ! พร้อมใจถือหุ้นเพิ่ม ตั้งเป้าปี 70 มาร์เก็ตแคป “แสนล้าน” ขึ้นแท่น “ผู้นำ” โลจิสติกส์และซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่สุดในอาเซียน
ใช้เวลา 6 เดือน ! ปิดดีลรวมกิจการบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD และ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SCGL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยกลุ่ม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC กลายเป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรภายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีเครือปูนซีเมนต์ไทยถือหุ้น 42.6% และครอบครัวบัณฑิตกฤษดา ถือหุ้น 30% ถือว่าการรวมกันข้างต้นเป็นดีลขนาดใหญ่ในแวดวงโลจิสติกส์ของไทยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา !
ณ ปัจจุบันถือว่าการทำธุรกรรมรวมกิจการระหว่างกันแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2566 และจะเริ่มใช้ชื่อย่อใหม่ในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น “SJWD” ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.2566 รวมถึงจะเริ่มรวมผลประกอบการของ JWD และ SCGL ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้การรวมกิจการกันเป็น SJWD และติดป้ายเป็นหนึ่งบริษัทในเครือของ SCG ที่ขึ้นแท่นเป็น “ผู้นำ” ด้านบริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่สุดในระดับภูมิภาคอาเซียน ความโดดเด่นดังกล่าวได้รับความสนใจจากเหล่ากองทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น บ่งบอกผ่านการทยอยเข้าถือหุ้นของบรรดากองทุนหน้าเก่า-ใหม่
สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไปมาก ! จากเดิมนักลงทุนสถาบันในประเทศถือหุ้นจำนวน 73 ล้านหุ้น ปัจจุบันถือเพิ่มเป็น 860 ล้านหุ้น ขณะที่สถาบันต่างชาติเดิมถือ 60 ล้านหุ้น ซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านหุ้น หรือราว 12%
ขณะที่ บริษัทมีเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) แตะ “แสนล้านบาท” ภายในปี 2570 ซึ่งหากมีมาร์เก็ตแคประดับแสนล้านบาท หุ้น SJWD มีโอกาสติดใน SET50 จากปัจจุบัน JWD มีมาร์เก็ตแคป 20,000 ล้านบาท และหากรวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะออก 791 ล้านหุ้น ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศให้หุ้น SJWD เข้า SET100 รอบเดือนม.ค.-มิ.ย. 2566 หลัง TRUE-DTAC ควบรวมกัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่กองทุนและต่างชาติสนใจซื้อหุ้น SJWD มากขึ้นอีกด้วย
“ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ดีลการรวมกิจการจนกลายเป็น SJWD นั้น ถือเป็นการเข้ามาเติมเต็มความฝันที่อยากเห็นธุรกิจที่ก่อตั้งมาเติบโตมีกิจการที่ขนาดใหญ่ในระดับอาเซียนให้เร็วมากขึ้น และยังทำให้ตนเองเหนื่อยน้อยลงอีกด้วย ด้วยพันธมิตรอย่างเครือของ SCG มีเน็ตเวิร์คและเครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนมานานกว่า 20 ปี !
“เราใช้เวลาไม่นานตัดสินใจในการรวมกิจการกัน ซึ่งเรามองถึงความยั่งยืนของธุรกิจและองค์กร แต่ก็ต้องยอมรับการสูญเสียความเป็นเจ้าของบางส่วน แต่ก็ต้องเลือกระหว่างจะใหญ่ในสนามเด็กเล่น หรือ เราจะใหญ่ในสนามฟุตบอล”
ดังนั้น SJWD ยังไปได้สวยมากกว่านี้... โดยปัจจุบันกำลัง “ดึงศักยภาพ” ของทั้ง JWD และ SCGL เพื่อมา Synergy (ผนึกกำลัง) โดยนับจากนี้จะเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนของ SJWD ในการสร้างการเติบโตทั้งในแง่ของ “การลงทุน” และ “เงินลงทุน” สะท้อนผ่านคณะกรรมการบอร์ดมีมติขอผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้จำนวน 12,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจเดิมและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่คาดว่าในปีนี้จะเห็นการปิดดีลไม่ต่ำกว่า 2 ดีล คาดใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท !!
“เรากำลังเจรจา M&A ในธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเจรจากันตั้งแต่ก่อนที่จะรวมกันเป็น SJWD ทำให้ช่วงนั้นยังดำเนินการต่อไปไม่ได้เนื่องจากเรายังอยู่ระหว่างการทำดีลรวมกิจการ แต่หลังจากนี้เราต้องเร่งทำต่อให้ปิดดีลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ดีลในปีนี้”
สำหรับการวางแผนธุรกิจร่วมกันทางเครือ SCG วางเป้าให้ SJWD เป็น “เรือธง” (Flagship) ในการบริการโลจิสติกส์ของเครือ SCG ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งภายใต้บริษัทร่วมทุนใหม่ วางเป้ารายได้ปี 2566 เติบโต 12% โดยในปีนี้จะเป็นปีแรกที่รวมงบรายได้-กำไร โดยหลังรวมกันบริษัทจะมีรายได้เติบโตถึง “4 เท่าตัว” และ มีกำไรเติบโต “เท่าตัว”
ณ ปัจจุบัน SJWD แบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท เชี่ยวชาญกลุ่มสินค้าที่ต้องการความชำนาญพิเศษในการบริหารจัดการ เช่น สินค้าอันตราย ยานยนต์และสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น 2. กลุ่มธุรกิจอาหาร 3. กลุ่มธุรกิจไอทีโซลูชั่น 4. กลุ่มธุรกิจการลงทุน
ขณะที่การขยายการลงทุนใน “ต่างประเทศ” บริษัทมีเป้าหมายในปี 2570 จะมีสัดส่วนรายได้ 50% โดยบริษัทมุ่งเน้นขยายการลงทุนใน “4ประเทศ” คือ เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-กัมพูชา-อินโดนีเซีย ซึ่งมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพจากอัตราเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ จึงมีความต้องการคลังสินค้าและผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม และสามารถขยายการลงทุนสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติมในประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในระดับภูมิภาค
ส่วนประเทศเมียนมาร์ , สปป.ลาว , มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นกลุ่มประเทศยังไม่ค่อยมีวอลุ่มขนาดใหญ่มากนัก ซึ่งทางบริษัทก็จะใช้เน็ตเวิร์คของพาร์ตเนอร์แทน ขณะที่ “ในประเทศ” จะใช้สินทรัพย์ของ SCGL มาต่อยอดธุรกิจเดิม ซึ่งจะช่วยลดเงินการลงทุนได้มาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยการผสมผสาน “จุดแข็ง” ของทั้ง JWD และ SCGL เข้าด้วยกัน โดยนำความเป็นผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าเฉพาะทางของ JWD เช่น สินค้าควบคุมอุณหภูมิ สินค้าอันตราย และรถยนต์ และ SCGL มีความเชี่ยวชาญการให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ จากการให้บริการขนส่งสินค้าแก่บริษัทในเครือ SCG และลูกค้าทั่วไป
ท้ายสุด “ชวนินทร์” บอกว่า เราควบรวมกับเครือ SCG ทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเขามีของรอเราอยู่แล้ว ซึ่งไม่ต้องไปเริ่มต้นหาลูกค้าใหม่ เราสามารถดำเนินการให้บริการสินค้าของในกลุ่มเครือ SCG ได้เลย และอนาคตค่อยๆ ไปขยายงานเสนอลูกค้าข้างนอกเพิ่ม ปัจจุบันถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นหลังการรวมกิจการเท่านั้น ยังสามารถสร้างการเติบโตได้มหาศาล...