“เรด ล็อบสเตอร์” ยังได้ไปต่อหุ้น TU ต้องเสี่ยงอะไรบ้าง
กระแสข่าวที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นยักษ์ใหญ่อาหารทะเลของไทย และระดับโลก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ทำให้ราคาหุ้นเจอผลกระทบถูกเทขาย (10 มี.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นที่มีความอ่อนไหว และยังเป็นตัวแปรสำหรับผลประกอบการ กรณี “Red Lobster” หรือ เรด ล็อบสเตอร์
ข่าวดังกล่าวมาจากสื่อต่างชาติ “บลูมเบิร์ก” รายงานถึงความเป็นไปได้ที่ TU ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังพิจารณาที่จะถอนตัวออกจากธุรกิจ เรด ล็อบสเตอร์ ซึ่งเป็นเชนภัตตาคารอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก หลังจากที่ TU เพิ่งเพิ่มการถือหุ้นในเรด ล็อบสเตอร์ได้ไม่ถึง 3 ปี
การเข้าลงทุนของ TU เกิดขึ้นอยู่ตลอดในช่วงปี 2559-2561 ตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการรวดเดียว 3 แห่ง ด้วยซื้อ “หุ้นรูเก้น ฟิช” ในเยอรมนีเพื่อเข้าสู่ตลาดอาหารทะเลกระป๋อง เจาะตลาดปลาทูน่ากระป๋องที่ถือว่าเป็นสินค้าหลักของกลุ่มประเทศเยอรมนี 2,000 ล้านบาท
การเข้าซื้อหุ้นใหญ่ใน “ เลเพ็ชเชอะรี เดอ เซซ์ บูส์ “ ซึ่งเป็นผู้แปรรูปกุ้งล็อบสเตอร์ในแคนาดา เพื่อต่อยอดการผลิตหลังบริษัทซื้อกิจการก่อนหน้านี้จนกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายกุ้งล็อบสเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดแอตแลนติกเหนือ
การประกาศซื้อหุ้น 45% ใน ”ทียูเอ็มดี ลักเซมเบิร์ก เอสเออาร์แอล” ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก มูลค่า 507 ล้านบาท ซึ่งจะใช้กระแสเงินทุนจากภายในบริษัทในการซื้อครั้งนี้ เพื่อเข้าไปทำธุรกิจปลา และอาหารทะเลค้าปลีก พร้อมผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ในประเทศรัสเซีย โดยมีแบรนด์ มากูโร ,แคปตัน ออฟเทสส์ และไรบาร์
และการซื้อหุ้น “เรด ล็อบสเตอร์” มูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท หรือ 575 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง จากการมีร้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสาขา 700 แห่งในสหรัฐ และมีแฟรนไชส์ทั่วโลก ทำให้บริษัทต้องมีการออกหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาท เพื่อปิดดีล
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ และวิกฤติโควิด -19 ทำให้ TU จำต้องแบกภาระหนี้ และรับรู้ขาดทุน ‘เรด ล็อบสเตอร์’ มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุดทาง TU จะออกมายืนยัน ไม่มีแผน “ขายทิ้ง “ ธุรกิจดังกล่าว
โดยเตรียมแผนกลยุทธ์ทางการตลาด การพัฒนาบุคลากร คุณภาพสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงมีผู้บริหารจากสำนักงานใหญ่เข้าไปดูแล ซึ่งแผนงานต่างๆ ยังคงดำเนินงานได้ตามเป้า หลังผลประกอบการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของเรด ล็อบสเตอร์ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไปตามความคาดหวัง
ทั้งอัตราการเติบโตของยอดขาย และความสามารถในการจัดการต้นทุนการดำเนินงานที่ทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจากการแผนการพลิกฟื้นธุรกิจด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจจริง
จากมุมมอง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ก่อนหน้านี้ TU อยู่ระหว่างเงื่อนไขเงื่อนไขกับเจ้าหนี้ว่า Red Lobster ต้องทำ EBITDA ได้ 60 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 เดือน(เดือนธ.ค. 2565 – พ.ค.2566) ในไตรมาสล่าสุด Red Lobster มี EBITDA ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งใกล้เคียงกับเงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้ผู้บริหารคาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นราคา ปรับเมนู และลดค่าใช้จ่าย ทำให้ส่วนแบ่งขาดทุนลดลงเหลือ 550-650 ล้านบาท จาก 1.21 พันล้านบาทในปี 2565
หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเจ้าหนี้ของ Red Lobster อาจยึดเงินค่าประกันซึ่ง TU ค่าประกันไว้ที่ 65 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ TU กลายเป็นเจ้าหนี้ของ Red Lobster แทน ซึ่งคาดว่าไม่กระทบต่องบการเงิน ยกเว้นผู้สอบบัญชีให้ตั้งเป็นหนี้สงสัยจะสูญ โดยในกรณีแย่ที่สุดคือ ทั้งจำนวน 65 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 31% ของกำไร TU
กรณี TU ขาย Red Lobster ซึ่งหากขายที่ราคาต่ำกว่ามูลค่ากิจการ จะทำให้ TU ต้องบันทึกขาดทุน ทั้งนี้ TU เข้าซื้อ Red Lobster มูลค่า 575 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนต.ค. 2559 ซึ่ง TU รับรู้ผลขาดทุนมาต่อเนื่องกว่า 3 พันล้านบาท แต่มีการบันทึกเงินปันผลจากหน่วยลงทุน
บุริมสิทธิกว่า 5 พันล้านบาท
ภายใต้สมมติฐานว่า TU ยังไม่ต้องตั้งสำรองฯ และยังถือหน่วยลงทุนสามัญ 25% และหน่วยลงทุนบุริมสิทธิ 24% ใน Red Lobster ตามเดิม โดยรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนลดลงเป็น 900 ล้านบาทในปีนี้ ปรับลดประมาณการกำไรปี 2566-2567 ลง 3-4% สะท้อนต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
โดยคาดยอดขายปีนี้เพิ่มขึ้น 6% จากการเติบโตโดดเด่นของกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงและกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่ม คาดอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 0.62 % เป็น 18.1% คาดกำไรปกติที่ 7.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% YoY
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์