เฟดประกาศ 1 พ.ค. นี้ เผยรายละเอียดนโยบายกำกับดูแลเอสวีบี

เฟดประกาศ 1 พ.ค. นี้ เผยรายละเอียดนโยบายกำกับดูแลเอสวีบี

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมฉุกเฉินซึ่งจัดขึ้นในวันจันทร์ (13 มี.ค.) ว่า เฟดกำลังทบทวนเกี่ยวกับการกำกับดูแลธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือเอสวีบี หลังจากที่เอสวีบี ประสบกับภาวะล้มละลายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มี.ค.)

แถลงการณ์ระบุว่า นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า การล้มละลายของเอสวีบี ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคารนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่เฟดต้องหันมาทบทวนอย่างถี่ถ้วน, โปร่งใส และเร่งด่วน โดยคณะกรรมการเฟดได้มอบหมายให้นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดฝ่ายกิจการกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทบทวนเรื่องดังกล่าว และจะมีการแถลงให้สาธารณชนรับทราบผลของการทบทวนในวันที่ 1 พ.ค.

“เราขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเราจะทำการทบทวนอย่างรอบคอบ และถี่ถ้วนว่า ที่ผ่านมาเราได้กำกับดูแลและวางกฎระเบียบกับเอสวีบีอย่างไร และเราต้องทบทวนว่า เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้” นายบาร์ กล่าว

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากคณะกรรมการเฟดพยายามรับมือกับสถานการณ์ที่เอสวีบี เผชิญกับภาวะล้มละลาย เพียงไม่กี่วันหลังจากที่บริษัทประกาศว่าจำเป็นต้องระดมเงินทุนเพื่อพยุงสถานะทางการเงิน ซึ่งการล้มละลายของเอสวีบี ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคาร

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอสวีบี ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐต้องประกาศมาตรการเยียวยาในวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) ด้วยการรับประกันว่า ลูกค้าทุกคนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคารเอสวีบี และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งถูกสั่งปิดด้วยนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวนนับตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป ขณะที่เฟดประกาศจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินจากผลกระทบของการล้มละลายของเอสวีบี

 

 

 

 

 

 

แถลงการณ์ล่าสุดของเฟดสะท้อนให้เห็นว่า เฟดซึ่งเป็นหน่วยงานต้นทางที่กำกับดูแลเอสวีบีนั้น จะดำเนินการทบทวนนโยบายต่างๆ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายทุกหน่วยงานในสหรัฐก็เริ่มพิจารณาว่าควรมีนโยบายใดบ้างที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแห่ถอนเงิน หรือ bank run ในอนาคต

ภายใต้นโยบายปัจจุบันนั้น ธนาคารที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ จะต้องได้รับการกำกับดูแลโดยตรงจากเฟด โดยเจ้าหน้าที่ และคณะผู้ว่าการเฟดในกรุงวอชิงตัน จะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการควบคุมดูแล ส่วนการติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวันนั้นเป็นหน้าที่การกำกับดูแลจากธนาคารในภูมิภาคของเฟด โดยเฟดสาขาซานฟรานซิสโก เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลเอสวีบี

ก่อนหน้านี้ เอสวีบีอยู่ภายใต้มาตรการตรวจสอบเพื่อประเมินความเป็นไปได้ว่าอาจจะล้มละลาย ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสบางรายได้ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดขนาดของกิจการเอสวีบี จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและจบลงด้วยเงินฝากที่หายไปกว่า 90% ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเกิดจากการแห่ถอนเงินของลูกค้า

"บิล ฮาเกอร์ตี้" วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี กล่าวว่า “เฟดสาขาซานฟรานซิสโกมีเครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นในการป้องกันไม่ให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการคำตอบว่า เพราะเหตุใดเฟดสาขาซานฟรานซิสโก จึงไม่ได้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อป้องกันสถานการณ์เช่นนี้”

รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของเอสวีบี หลังจากราคาหุ้นเอสวีบีทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่าเอสวีบีอาจต้องเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยเอสวีบีจำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว เนื่องจากราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด ขณะที่ธุรกิจสตาร์ตอัปในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของเอสวีบี ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และได้แห่ถอนเงินฝากจากเอสวีบี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์