7 สิ่งต้องรู้ก่อนผลประชุม ‘ธนาคารกลางสหรัฐ’ คืนนี
เปิด 7 ประเด็นต้องรู้ก่อนเฟดแถลงผลการประชุมล่าสุด เกี่ยวกับทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ย โดย 7 ประเด็นคือ ท่าทีของนักลงทุน, ส่วนวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ย, คาดการณ์ผลการประชุม, ถ้อยแถลงของ FOMC, ความรู้สึกของประชาชน, ประเด็นเรื่องงบดุล และการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปมากนัก หากจะบอกว่าทุกสายตาจากทั่วโลกกำลังจ้องไปที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ เจอโรม พาวเวลล์ นั่งเป็นประธาน ท่ามกลางการถ่วงดุลระหว่างความต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงแตะระดับ 6% ในเดือนก.พ. และการรับมือวิกฤติธนาคารพาณิชย์จำนวนหนึ่งล่มสลาย
การประชุมของธนาคารกลางเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลุดออกมา ทว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากประเมินว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% (Quarter-point) ท่ามกลางมุมมองของกลุ่มผู้ร่างนโยบายหลายคนมองว่าเฟดควรหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงให้ภาคการเงินสหรัฐ
ไดเร็ก ถัง นักวิเศรษฐศาสตร์ที่ LH Meyer และนักวิเคราะห์นโยบายทางการเงินของสหรัฐ กล่าวว่า “ตอนนี้จากความตึงเครียดในภาคธนาคารอาจลามไปเป็นความโกรธก็ได้ จริงๆ ประเด็นที่ว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเยอะไปแล้ว หรือยังไม่เยอะพอ คำกล่าวทั้งสองอาจเป็นจริงในเวลาเดียวกัน”
โดยอีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมในสัปดาห์นี้คือ: ผู้กําหนดนโยบายเตรียมออกประมาณการอัตราดอกเบี้ย (Rate Projections) แบบปรับปรุงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. ซึ่งจะทำให้หลายฝ่ายสามารถประเมินภาพรวมของปีนี้ได้ว่าเฟดจะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทั้งปีเพิ่มหรือไม่
ทั้งนี้ เฟดจะเผยแพร่ผลการประชุมในเวลา บ่าย 14.00 น. ตามเวลา ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐ หรือ 04.00 น. ของวันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย โดยเจอโรม พาวเวลล์จะนั่งแถลงข่าวเป็นเวลา 30 น. หลังจากประชุมเสร็จ
การต่อรองของตลาด
ช่วงบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา ตลาดกําหนดราคาในอัตราต่อรองประมาณ 80% โดยมองว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 4.75% ถึง 5% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2007
ตั้งแต่ช่วงวิกฤติธนาคารสหรัฐเกิดขึ้น นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จำนวนมากต่างมองว่าเฟดอาจไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงมากเท่าประมาณการก่อนเกิดวิกฤติ
ด้าน โจนาธาน มิลลาร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ Barclays Plc ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า “ความยากของการประชุม FOMC ครั้งนี้คือการบาลานซ์ระหว่างการสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ ในขณะเดียวกันก็ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินด้วย”
ส่วนวิเคราะห์ของ ‘Bloomberg Economics’
“ไม่มีทางเลือกที่ง่ายเลย ไม่ว่าทางไหนก็ยากทั้งนั้น การหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะตีความได้ว่าเฟดไม่มั่นใจในระบบธนาคารสหรัฐ หรืออาจเจอปัญหาที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันถ้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้ระบบธนาคารตึงขึ้น และทำให้นักลงทุนกังวลมากไปอีก”
การคาดการณ์ผลการประชุม FOMC
ในช่วงต้นเดือนมี.ค. พาวเวลล์กล่าวว่า กลุ่มผู้ร่างนโยบายอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่า ‘Dot Plot’ อาจขยับ 5.1% ซึ่งเป็นเตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยสําหรับสิ้นปี 2023 อย่างไรก็ดี จากวิกฤติธนาคารในสหรัฐช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลให้เฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเท่าอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
โดยโซเนีย เมสคิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐ ที่ BNY Mellon กล่าวว่า “ความยากลําบากไม่ได้มีแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินเท่านั้น แต่ยังต้องประเมินต่อไปว่าธนาคารอาจลดการปล่อยสินเชื่อลงมากมากน้อยเพียงใด”
ในขณะที่ไดแอน สวอนค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ KPMG LLP ชี้ว่า “การปล่อยประมาณการดอกเบี้ยมาตอนนี้นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังสร้างความสับสนและไม่ชัดเจนให้ประชาชนรวมทั้งนักลงทุนด้วย”
ถ้อยแถลงของ FOMC
นักวิเคราะห์มองว่าอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากถ้อยแถลงของ FOMC โดยคณะกรรมการอาจล้มเลิกแนวคิด “เพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง” (Ongoing Increases) และใช้ภาษาที่นุ่มนวล หรือเป็นถ้อยคำที่มีนัยถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยเฟดอาจประกาศว่า “เรากําลังติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตอย่างใกล้ชิด”
ความไม่พอใจในหมู่นักลงทุน
ขณะนี้ FOMC กำลังเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ซึ่งผลการประชุมอาจสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนบางกลุ่ม รวมทั้งคณะทำงานเองก็ตาม โดย สำนักข่าวบลูมเบิร์กประเมินว่า ออสตัน กูลส์บี ประธานเฟดชิคาโก อาจคัดค้านท่าทีของเฟดที่ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่นีล คาชการี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสอาจโต้แย้งการเคลื่อนไหวที่ ‘เหยี่ยว’ จนเกินไป
งบดุล
งบดุลของเฟดขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 8.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 283.8 ล้านล้านบาท) ด้วยขั้นตอนฉุกเฉินเพื่อรองรับการล่มสลายของกลุ่มธนาคารในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้งบดุลของเฟดลดลงอย่างต่อเนื่องจากการลดปริมาณพันธบัตรรัฐบาลและหลักทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากการจํานองของธนาคารกลาง
ทั้งนี้ นักวเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า FOMC ยังมองว่า การดึงเงินออกจากระบบ (Quantitative Tightening) ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรดำเนินต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับที่ บิล ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ฟันธงว่า “เฟดจะยังทำ QT ”
การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า พาวเวลล์อาจได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติธนาคารที่ผ่านมาว่าเกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แม้เขาจะให้เหตุผลว่าทุกอย่างที่ทำไปนั้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อก็ตาม
ด้านเอลเลน มี้ ศาสตร์จารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Duke University และอดีตคณะกรรมการเฟด กล่าวว่า “งานของพาวเวลล์คือต้องพยายามแยกประเด็นด้านความไม่มั่นคงทางการเงิน (The Financial Instability Issue) และมาตรการที่จะใช้เพื่อจัดการประเด็นดังกล่าวออกจากปัญหาด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่แข็งกร้าว”