ส่อง 12 หุ้นเครื่องดื่ม รับหน้าร้อน แบรนด์ไหนฮอตสุด 

ส่อง 12 หุ้นเครื่องดื่ม รับหน้าร้อน แบรนด์ไหนฮอตสุด 

ย่างก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มมีด้วยกัน 12 หลักทรัพย์ที่น่าสนใจ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG มาร์เก็ตแคปสูงสุดในกลุ่ม 99,000 ล้านบาท

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน มักจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของกลุ่มเครื่องดื่ม เนื่องจากผูู้คนส่วนใหญ่ต้องการต้องการบริโภคเครื่องดื่มเพื่อดับกระหาย คลายร้อน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มได้รับอานิสงส์การเติบโตในช่วงนี้ไปด้วย ขณะที่ 1 เม.ย.66 กรมสรรพสามิต ปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 (หลังสิ้นสุดระยะเวลาคงภาษี 6 เดือน ตามมติ ครม. ที่เห็นชอบให้คงภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565-31 มี.ค. 2566)

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมไตรมาส 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เพียงแต่ว่า ในแต่ละปีอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามากระทบ เช่น ปัญหาเรื่องของภาคการผลิต และต้นทุนหรือไม่ ซึ่งต้นทุนอาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายภาษีความหวาน หรือปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนทำให้การผลิตของบางบริษัทที่โรงงานติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะมีความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ 

 

ส่อง 12 หุ้นเครื่องดื่ม รับหน้าร้อน แบรนด์ไหนฮอตสุด 

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าตัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ออกไป พอเริ่มเข้าสู่หน้าร้อนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มก็จะเข้าสู่ไฮซีซั่นมักจะสามารถทำผลประกอบการได้ค่อนข้างที่จะดี ซึ่งในช่วงหลังมานี้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มได้มีการขยายนอกจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้ว ยังมีการขยายส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็ทำให้การผลิตมีทิศทางที่ปรับขึ้นไปด้วย ทั้งนี้แบรนด์เครื่องดื่มของไทยค่อนข้างจะมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดได้

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทิศทางเทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มในบ้านเราค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น โมเมนตัมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 

แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มของไทยมีทั้งในประเทศและส่งออกไปนอกประเทศ ส่งผลให้หุ้นบางตัวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสักพักของการปรับฟื้นตัวขึ้นมา ซึ่งอาจจะไม่ได้ดีทั้งกลุ่ม แต่ในช่วงจังหวะที่มีการย่อลงมาอยู่ในจุดที่นักลงทุนเข้าไปสะสมได้ 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2566 มูลค่าการบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ไม่รวม Food service) จะยังเติบโตราว 4.0%-6.0% ซึ่งเป็นทิศที่ชะลอลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่เติบโต 7.4% โดยการบริโภคผ่านร้านค้าปลีกต่างๆ อาจยังเพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมนอกบ้านและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว รวมถึงการทำการตลาดและโฆษณา อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของราคาน่าจะชะลอลง อีกทั้งผู้บริโภคบางส่วนอาจหันไปบริโภคเครื่องดื่มผ่าน Food service มากขึ้น จึงทำให้คาดว่า ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์น่าจะโตในอัตราที่ชะลอลง

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า แม้ว่าทิศทางของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะไปทางเทรนด์สุขภาพ แต่ด้วยความถี่ในการบริโภคเครื่องดื่มที่เป็นสินค้าประจำวันที่อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อีกทั้ง Life-cycle ของสินค้าแต่ละประเภทก็สั้นลง ความภักดีต่อแบรนด์ลดลง ขณะที่ผู้เล่นจำนวนมากยังทยอยเข้าสู่ตลาด สะท้อนถึงภาพการแข่งขันของธุรกิจที่จะยังคงรุนแรง นั่นหมายความว่า การเพิ่มความถี่หรือการเพิ่มมูลค่าในการดื่มต่อครั้งของผู้บริโภค เพื่อที่จะรักษายอดขายของทุกผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการแต่ละราย เพราะสินค้าแต่ละตัวมีความสามารถในการทำยอดขายหรือประสบความสำเร็จได้แตกต่างกัน

"กรุงเทพธุรกิจ" ได้สำรวจหุ้นกลุ่มเครื่องดื่มมีด้วยกัน 12 หลักทรัพย์ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

1.บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งมีการลงทุนหลักในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจ ผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างครบวงจร

  • มาร์เก็ตแคป 99,000.00 ล้านบาท (ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 24 มี.ค.66) 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท เสถียรธรรมโฮลดิ้ง จำกัด
  • กำไรสุทธิ 2,286.20 ล้านบาท
  • รายได้รวม 19,454.81 ล้านบาท
  • P/E 43.30 เท่า
  • P/BV 9.27 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  1.52%

2.บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังภายใต้ ตราสินค้า เช่น เอ็ม-150 ลิโพ เป็นต้น

  • มาร์เก็ตแคป 95,369.06 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นาย นิติ โอสถานุเคราะห์
  • กำไรสุทธิ 1,933.77 ล้านบาท
  • รายได้รวม 27,481.87 ล้านบาท
  • P/E 49.32 เท่า
  • P/BV 5.17 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 2.83%

3.บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น และเครื่องดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า "โออิชิ"

  • มาร์เก็ตแคป 21,375.00 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
  • กำไรสุทธิ 316.96 ล้านบาท
  • รายได้รวม 3,494.18 ล้านบาท
  • P/E 18.98 เท่า
  • P/BV 2.58 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  2.81%

OISHI ระบุว่า คณะกรรมการบริษัทรับทราบข้อเสนอของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เรื่องแจ้งความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดเพื่อเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดนไทยเบฟ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 79.66% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท จะทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.34% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ในราคาเสนอซื้อที่ราคาหุ้นละ 59.00 บาท 

โดยกลุ่มไทยเบฟ อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานและการประกอบธุรกิจของกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ภายในกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยจะดำเนินการจัดกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

4.บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ภายใต้ 24 ตราสินค้าทั้งในและต่างประเทศ 

  • มาร์เก็ตแคป 17,495.41 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 น.ส. ปิยจิต รักอริยะพงศ์
  • กำไรสุทธิ 653.15 ล้านบาท
  • รายได้รวม 4,899.51 ล้านบาท
  • P/E 26.79 เท่า
  • P/BV 5.37 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  2.91%

5.บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ประกอบธุรกิจเครื่องดื่ม เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม อิชิตัน กรีนที, เครื่องดื่มสมุนไพร เย็นเย็น โดยอิชิตัน และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ไม่อัดลมไบเล่

  • มาร์เก็ตแคป 17,290.00 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นาย ตัน ภาสกรนที
  • กำไรสุทธิ 641.64 ล้านบาท
  • รายได้รวม 6,359.60 ล้านบาท
  • P/E 26.95 เท่า
  • P/BV 2.80 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  4.51%

6.บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม เครื่องดื่มน้ำอัดลม "เอส" และ "ซาสี่" น้ำดื่ม "คริสตัล" ชาเขียว "โออิชิ" เครื่องดื่มอัดลมเพื่อสุขภาพ "100พลัส" เครื่องดื่มสมุนไพร "จับใจ" น้ำโซดา "ร็อค เมาเท่น" เครื่องดื่มบำรุงกำลัง "แรงเจอร์" เครื่องดื่มเกลือแร่ "พาวเวอร์พลัส" และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ วีบูสท์

  • มาร์เก็ตแคป 9,638.89 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด
  • กำไรสุทธิ 38.61 ล้านบาท
  • รายได้รวม 2,918.76 ล้านบาท
  • P/E 514.36 เท่า
  • P/BV 1.03 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  0.94%

7.บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลม ภายใต้เครื่องหมายการค้า โคคา-โคลา แฟนต้า สไปร์ท และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้มินิท เมด เครื่องดื่มอควาเรียส และน้ำดื่มน้ำทิพย์

  • มาร์เก็ตแคป 6,581.46 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 GUTSCHE FAMILY INVESTMENTS PROPRIETARY LIMITED
  • กำไรสุทธิ 435.06 ล้านบาท
  • รายได้รวม 7,092.54 ล้านบาท
  • P/E 15.13 เท่า
  • P/BV 1.75 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  4.64%

8.บริษัท อาหารสยาม จำกัด(มหาชน) หรือ SFP ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดบรรจุกระป๋อง ผลไม้รวมบรรจุกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้นบรรจุในถุงปลอดเชื้อ ผลไม้ตามฤดูกาล ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าที่สำคัญๆในต่างประเทศ

  • มาร์เก็ตแคป 5,250.00 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท พรรณธิอร จำกัด
  • กำไรสุทธิ 126.20 ล้านบาท
  • รายได้รวม 839.69 ล้านบาท
  • P/E 23.79 เท่า
  • P/BV 2.76 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  -%

9.บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ผลิตและจำหน่ายน้ำแร่ธรรมชาติพร้อมดื่ม ภายใต้เครื่องหมายการค้าหลัก ออรา

  • มาร์เก็ตแคป 4,608.64 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นาย สิทธิลาภ ทรัพย์สาคร
  • กำไรสุทธิ 279.82 ล้านบาท
  • รายได้รวม 2,988.49 ล้านบาท
  • P/E 16.47 เท่า
  • P/BV 1.06 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  9.32%

10.บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม ผักและผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และซอสปรุงรส  

  • มาร์เก็ตแคป 4,034.40 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท ล่ำสูง โฮลดิ้ง จำกัด
  • กำไรสุทธิ 432.42 ล้านบาท
  • รายได้รวม 11,670.28ล้านบาท
  • P/E 9.33 เท่า
  • P/BV 0.89 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  3.86%

11.บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ และสินค้าไลฟสไตล์

  • มาร์เก็ตแคป 3,678.40 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นาย ชัชชวี วัฒนสุข
  • กำไรสุทธิ 235.15 ล้านบาท
  • รายได้รวม 1,533.43 ล้านบาท
  • P/E 15.64 เท่า
  • P/BV 4.82 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  5.95%

12.บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

  • มาร์เก็ตแคป 3,492.68 ล้านบาท 
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นาง กมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ
  • กำไรสุทธิ -209.95 ล้านบาท
  • รายได้รวม 6,569.86 ล้านบาท
  • P/E - เท่า
  • P/BV 2.47 เท่า
  • เงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี  -%