10 หุ้นโรงไฟฟ้าใหญ่ เจ็บหนัก เร่งฟื้นตัวไตรมาส 2/66
หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าบิ๊กแคป 10 อันดับ ไตรมาส 1/66 ผลตอบแทนด้านราคาติดลบทั้งกลุ่ม หลังได้รับผลกระทบบอนด์ยีลด์สหรัฐที่มีการปรับเร่งตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานผลประกอบส่วนใหญ่สัญญาณการฟื้นตัวปรับขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/66
แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 1/66 จะไม่สวยหรูสักเท่าไร เพราะในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบเรื่องบอนด์ยีลด์สหรัฐที่มีการปรับเร่งตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นตัวกดดันเชิงเซนติเมนของกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้า จึงทำให้ผลตอบแทนจากราคาตั้งแต่ต้นปีปรับลดลงไปบ้าง แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานผลประกอบส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 ของปีที่ผ่านมา
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/66 หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบบอนด์ยีลด์สหรัฐที่มีการปรับเร่งตัวขึ้น แต่ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าก็อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว หลังจากที่ต้นทุนราคาแก๊สมีการปรับตัวลดลง และค่า Ff ที่มีการปรับตัวขึ้นมา เพราะว่า Ff เดือนม.ค. - เม.ย. 66 มีการคงไว้ในส่วนของภาคครัวเรือน และปรับขึ้นในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโรงไฟฟ้าบ้านเราที่มีการขายให้กับนิคมอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์ตรงนี้ไปด้วย ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 1 จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 จึงทำให้ปลายไตรมาส 1/66 มีการฟื้นตัวกลับขึ้นมา
ทั้งนี้ ไตรมาส 2 /66 ต้องดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/66 เนื่องจากต้นทุนของราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงจากต้นทุนใหม่ ซึ่งจะได้ส่วนต่างในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่า Ft ปรับลดลงมา ทำให้ค่าไฟลงมาจาก 5.33 บาท เหลืออยู่ที่ 4.77 บาท ที่ กกพ.ออกมาล่าสุด ขณะที่ต้นทุนมีการปรับตัวลดลงที่แรงกว่าค่าไฟที่ลงไป รวมถึงการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายหลายบริษัทสามารถทำได้ดีขึ้น น่าจะทำให้ผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มโรงไฟฟ้าไตรมาส 2/66 จะเปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/66
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ลงมาแรงในช่วงไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา จะเป็น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ที่ราคาหุ้นลงไปกว่า 20% สาเหตุเพราะว่า ไตรมาส 1/66 กำไรจะหายไปจากการขายโรงไฟฟ้าพลังงานลมให้กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ไปครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะหายไป ทำให้ GUNKUL เกิดการชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับหุ้นโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงการฟื้นตัว
ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้นช่วงต้นต้นไตรมาส 2/66 มีปัจจัยหนุนเรื่องการประกาศของ กกพ.ผู้ได้คัดเลือกขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกกะวัตต์ จากผู้เสนอขายไฟ ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ล็อตแรกในวันที่ 5 เมษายน นี้ รอบสุดท้าย และล็อตที่สองตามออกมาอีก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 2/66 ซึ่งหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนแก๊สจะเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็น SPP ที่ขายให้กับนิคมอุตสาหกรรม หุ้นที่ได้รับประโยชน์คือ GPSC เพราะว่า กำไรจะฟื้นแรงในปีนี้ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตัวที่ได้รับประโยชน์คือ GUNKUL ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้ว ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตไปกับ GULF ซึ่งเป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกัน จึงทำให้ GUNKUL เหมาะกับการลงทุนระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าบิ๊กแคป 10 อันดับ ในช่วงไตรมาส 1/66 ส่วนใหญ่แล้วผลตอบแทนด้านราคาติดลบทั้งกลุ่ม (ข้อมูล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 4 เมษายน 2566)
1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
- มาร์เก็ตแคป 621,856.95 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -4.07%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 55.25 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 53.00 บาท
- ค่า P/E 54.46 เท่า
- ค่า P/BV 5.61 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 1.13%
ทั้งนี้ GULF และ Sinohydro (Hong Kong) Holding Ltd. (SHK) เครือบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ถือหุ้นสัดส่วน 40% และ 60% ตามลำดับ ใน Pak Lay Power Company Limited ได้ลงนามบันทึกข้อความเข้าใจรับซื้อไฟฟ้า กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยจะขายไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay ให้แก่ กฟผ. ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์วันที่ 1 ม.ค. 2575
2.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
- มาร์เก็ตแคป 283,480.00 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -21.65%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 97.00 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 76.00 บาท
- ค่า P/E 37.28 เท่า
- ค่า P/BV 7.28 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 0.39%
ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ในการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ให้กับ EA จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่มในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ (E-Bus) และนำมาให้เช่าซื้อแก่บริษัทที่ได้ใบอนุญาตให้บริการเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับโครงการนี้เป็นอีกก้าวสำคัญบนเส้นทางเป้าหมายเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งโครงการนี้ช่วยเปลี่ยนผ่านรถโดยสารสาธารณะที่เดิมใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานไฟฟ้า และมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหามลพิษจากการขนส่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่สังคมไทยเผชิญอยู่
3.บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
- มาร์เก็ตแคป 188,216.94 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -8.56%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 73.00 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 66.75 บาท
- ค่า P/E 211.14 เท่า
- ค่า P/BV 1.80 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 0.75%
GPSC ร่วมกับกลุ่ม Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ผ่านกองทุน CI NMF I Cooperatief U.A. (CI NMF I) ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท วินด์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท โดยบริษัท และ CI NMF I ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 และ 49 ตามลำดับ เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในพลังงานลม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานลม
4.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM
- มาร์เก็ตแคป 100,365.65 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -3.14%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 39.75 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 38.50 บาท
- ค่า P/E - เท่า
- ค่า P/BV 3.38 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน0.17%
BGRIM นำบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) จำกัด (BGPM1R) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้นร้อยละ 70 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าใหม่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการ BGPM1R ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปีและส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรม
5.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH
- มาร์เก็ตแคป 83,737.50 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -9.94%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 42.75 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 38.50 บาท
- ค่า P/E 14.48 เท่า
- ค่า P/BV 0.85 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.16%
RATCH ตั้งเป้าปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1,700 เมกะวัตต์ ทั้งโครงการที่อยู่และดีล M&A รายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 10% และ EBITDA ไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท รวมถึงอัดงบลงทุนปี 2566 แตะ 3.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนธุรกิจไฟฟ้า 2.9 หมื่นล้านบาท และธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟฟ้า 6 พันล้านบาท
6.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO
- มาร์เก็ตแคป 81,865.31 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -9.86%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 172.50 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 155.50 บาท
- ค่า P/E 30.51 เท่า
- ค่า P/BV 0.68 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.18%
ทั้งนี้ EGCO ได้นำบริษัทย่อย ชื่อ EGCO RISEC II, LLC ที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Cogentrix RISEC CPOCP Holdings, LLC และ Cogentrix RISEC CPP II Holdings, LLC เมื่อ 11 พ.ย. 65 เพื่อเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในสหรัฐฯ ขนาด 609 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนร้อยละ 49
7.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP
- มาร์เก็ตแคป 47,544.61 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -4.88%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 16.40 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 15.60 บาท
- ค่า P/E 8.28 เท่า
- ค่า P/BV 0.98 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.49%
BPP เผยแผนธุรกิจปี 2566-2568 ตั้งเป้ารายได้ปี 66 ทำสถิติสูงสุดใหม่ (New-High) จากปี 65 อยู่ที่ 24,501 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ เผยดีลใหญ่จ่อปิดเร็ว ๆ นี้ อีกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 500-700 ล้านเหรียญ
8.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL
- มาร์เก็ตแคป 36,773.68 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -21.14%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 5.25 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 4.14 บาท
- ค่า P/E 12.22 เท่า
- ค่า P/BV 2.61 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.90%
GUNKUL ปีนี้เตรียมรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน งานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) วางเป้ารายได้โตปีละไม่ต่ำกว่า 15% พร้อมตั้งเป้าปีนี้เพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์
9.บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP
- มาร์เก็ตแคป 33,655.64 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -9.21%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 4.56 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 4.14 บาท
- ค่า P/E 13.81 เท่า
- ค่า P/BV 1.27 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.05%
CKP มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 ใน สปป.ลาว ขนาด 615 เมกะวัตต์ โดย CKP ถือหุ้น 46% เพราะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ในสปป.ลาว 1,285 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 42.5% ส่วนในปี 66 บริษัทมีแผนลงทุนพลังงานต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 2,167 MW ตามสัดส่วนถือหุ้น 939 เมกะวัตต์
10. บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
- มาร์เก็ตแคป 29,368.17 ล้านบาท
- อัตราผลตอบแทนจากราคา YTD -0.98%
- ราคาสิ้นปี 2565 ปิดที่ 10.20 บาท
- ราคา ณ วันที่ 4 เม.ย.66 ปิดที่ 10.10 บาท
- ค่า P/E 11.17 เท่า
- ค่า P/BV 1.00 เท่า
- อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.56%
BCPG ลงทุนในสหรัฐอเมริกาขื้อขายหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มอีก 2 โครงการ โดยการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25 “ฮามิลตั้น โฮลดิ้ง”และ “ฮามิลตั้น เพทริออต” มีกำลังการผลิตรวม 1,705 เมกะวัตต์ ทำให้บีซีพีจีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 426 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวประมาณ 8,919 ล้านบาท