ดาวโจนส์ดิ่งเกือบ 300 จุด นลท.กังวลวิกฤติธนาคารในสหรัฐ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(4พ.ค.)ปรับตัวลง 286 จุด ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลว่าสหรัฐยังคงเผชิญวิกฤตในภาคธนาคาร
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 286.50 จุด หรือ 0.86% ปิดที่ 33,127.74 จุด
- ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.72% ปิดที่ 4,061.22 จุด
- ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 0.49% ปิดที่ 11,966.40 จุด
นอกจากนี้ นักลงทุนผิดหวังต่อการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งแม้บ่งชี้ว่าเฟดจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เฟดยังไม่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 286.50 จุด หรือ 0.86% ปิดที่ 33,127.74 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.72% ปิดที่ 4,061.22 จุด และดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 0.49% ปิดที่ 11,966.40 จุด
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงนำตลาดวันนี้ โดยราคาหุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ร่วงลงกว่า 50% ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของทางธนาคาร
"คณะกรรมการบอร์ดของบริษัทกำลังสำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด โดยบริษัทได้ทำการติดต่อผู้ที่อาจเป็นหุ้นส่วนหรือนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และการเจรจายังคงดำเนินต่อไป ซึ่งบริษัทจะยังคงประเมินทุกทางเลือกเพื่อให้มูลค่าสูงสุดต่อผู้ถือหุ้น" แถลงการณ์ของแพคเวสต์ระบุ
แพคเวสต์ออกแถลงการณ์ดังกล่าว หลังจากราคาหุ้นทรุดตัวลงอย่างหนัก จากการที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางธนาคารกำลังพิจารณาขายกิจการ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คำว่า "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ถือเป็นการส่งสัญญาณ "ช่วยด้วย" ซึ่งธนาคารล่าสุดที่ได้ประกาศว่า กำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ก็คือ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ก่อนที่จะถูกบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าพิทักษ์ทรัพย์ และเจพีมอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการในที่สุด
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.00%
นอกจากนี้ เฟดส่งสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ด้วยการยกเลิกประโยคที่เคยระบุในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่า "คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่าการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม" เพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย และต้องใช้เวลากว่าจะปรับตัวลง เฟดจึงมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีความเหมาะสมในขณะนี้
ขณะเดียวกัน นักลงทุนกังวลต่อการที่สหรัฐอาจเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อนเส้นตายดังกล่าว
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 242,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 240,000 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 38,000 ราย สู่ระดับ 1.805 ล้านราย
ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์(5พ.ค.)ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 236,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในเดือนเม.ย.