หุ้นนิคมฯ เนื้อหอม ยักษ์อีวีแห่ซื้อที่ตั้งโรงงาน
ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ในประเทศไทยกำลังบูมสุดๆ สอดรับกับเทรนด์พลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่ต้องใช้น้ำมัน
ขณะที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีอย่างเต็มที่ มีการออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาตั้งโรงงานในไทย และยังช่วยดึงให้ราคารถอีวีในประเทศถูกลง
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 26 บริษัท รวม 860,195 คัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมด 86,855 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
โดยมีแบรนด์ที่ผลิตและเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว 11 แบรนด์ เช่น นิสสัน, ฮอนด้า, โตโยต้า, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เอ็มจี, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู
และมีผู้ประกอบการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอีวี 14 บริษัท 16 โครงการ เงินลงทุนรวม 5,120 ล้านบาท ส่วนแบตเตอรี่ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า มีการยื่นขอผลิตแบตเตอรี่อีวี 13 บริษัท 20 โครงการ เงินลงทุนรวม 9,264 ล้านบาท และการผลิตแบตเตอรี่ความจุสูงอีก 8 บริษัท 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 9,309 ล้านบาท
และล่าสุดมีข่าวออกมาว่า CATL (Contemporary Amperex Technology Co., Ltd.) ผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีอันดับ 1 ของโลกจากจีนสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยเช่นกัน โดยได้มีการเข้าไปหารือกับบีโอไอมาแล้ว
รวมทั้ง ยังมีรายงานว่า ผู้ประกอบการอีวีอีกหลายรายสนใจจะมาซื้อที่และตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มากกว่า 2,500 ไร่ รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจร (PCB) จากจีนเล็งย้ายฐานการผลิตมาไทยเช่นกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
แน่นอนว่าเมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้ เลือกมาปักหมุดตั้งโรงงานในประเทศไทย จะกลายเป็นโอกาสทองสำหรับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยทีมวิจัยกรุงศรี ประเมินว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วงปี 2566-2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
ช่วยหนุนความต้องการซื้อหรือเช่าที่ดิน คาดว่ายอดขายและให้เช่าที่ดินจะกลับมาขยายตัวดี 18.0-20.0% ต่อปี อยู่ที่ 2,200 ไร่ 2,700 ไร่ และ 3,000 ไร่ ตามลำดับ
รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงปี 2567-2568 ตามแผนพัฒนาระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ผู้ประกอบการต่างชาติมีแนวโน้มย้ายหรือขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อกระจายความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่อง
ด้านบล.หยวนต้า ประเมินว่า กำไรปกติของ AMATA ปี 2566 จะเติบโตถึง 60.7% YoY จากธุรกิจนิคมฯ ที่เติบโตเด่น รับปัจจัยหนุนจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยอุปสงค์ที่ดินทั้งในไทยและเวียดนามยังแข็งแกร่งจากนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่เร่งเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งส่วน Assembly และ Spare parts นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ได้ปรับประมาณการกำไรปกติของ WHA ปี 2566 ขึ้น +4% เป็น 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +9% YoY และปี 2567 ขึ้น +7% เป็น 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +20% YoY หลังปรับเพิ่มยอดขายที่ดินเป็นปีละ 2 พันไร่ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าบริษัทมีโอกาสที่จะปรับเป้าในช่วงกลางปีขึ้น จากยอดขายที่เข้ามาสูงตั้งแต่ต้นปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนไม่มีความกังวลต่อปัญหาด้านการเมือง
รวมทั้งมีโอกาสที่บริษัทจะได้ลูกค้าอีวีรายใหญ่สูง เนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ในนิคมฯ ปัจจุบันที่รองรับการขายในพื้นที่อีอีซีได้ ทำให้ยอดโอนปี 2566-2567 เพิ่มเป็น 1.5 และ 1.8 พันไร่ตามลำดับ
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) คาด ROJNA จะทำยอดขายในไตรมาส 1 ปี 2566 ได้มากที่สุดในกลุ่ม 442 ไร่ เทียบกับ AMATA และ WHA ที่ 310 ไร่ และ 438 ไร่ ตามลำดับ ซึ่งยอดขายในไตรมาส 1 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 57% จากเป้าหมายทั้งปีที่ 782 ไร่ ทำให้มีโอกาสที่จะปรับประมาณการยอดขายขึ้นอีก