EA เผยไตรมาส 1/66 กำไรสุทธิ 2.32 พันล้าน พุ่ง 69.78% รับ ‘ธุรกิจEV-โรงไฟฟ้า’ โต

EA เผยไตรมาส 1/66 กำไรสุทธิ 2.32 พันล้าน พุ่ง 69.78% รับ ‘ธุรกิจEV-โรงไฟฟ้า’ โต

“อีเอ” เผยไตรมาส 1 ปี 66 กำไรสุทธิ 2.32 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.78% ขานรับผลดำเนินงานของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า และ รถเพื่อการพาณิชย์ และ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สูงขึ้น

              บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 2,319.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 953.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 69.78% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 1,366.31 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากผลดำเนินงานของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์และธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สูงขึ้น

ขณะที่ รายได้บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมไตรมาส 1 ปี 66 จำนวน 8,904.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,087.61 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 84.87% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม4,816.56 ล้านบาท

              ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะรายได้จากการดำเนินงาน บริษัทมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สรุปได้ดังนี้ 1. รายได้กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล : บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากส่วนงานกลุ่มธุรกิจไบโอดีเซลไตรมาส 1 ปี 66 ลดลงจำนวน 601.73 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 29.67 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

              2. รายได้กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน : มีรายได้จำนวน 3,502.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 880.14 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.75 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 2,622.00 ล้านบาท

              3. รายได้กลุ่มธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ : มีรายได้จำนวน 3,987.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 3,848.36 ล้านบาท โดยหลักมาจากการจำหน่ายรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์จำนวนทั้งสิ้น 790 คัน

4. รายได้กลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน : มีรายได้จำนวน 1,366.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,281.42 ล้านบาท จากปริมาณการจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1/2566 (บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพื่อใช้ประกอบรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2/2565) โดยปัจจุบันสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ของกลุ่มบริษัทฯ

5. รายได้กลุ่มธุรกิจอื่น : มีรายได้จำนวน 121.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 77.51ล้านบาทโดยหลักมาจากรายได้การให้บริการของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับการขยายธุรกิจของสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ารวมจำนวนทั้งสิ้น 487 สถานี

6. รายได้อื่น : มีรายได้จำนวน 9.49 ล้านบาท ลดลงจำนวน 66.65 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนที่สำคัญของบริษัท  

ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EA Anywhere

- บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN) ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยมีการให้บริการแล้วจำนวน 487 สถานี (สถานี DC charger และสถานีAC charger) รวมทั้งหมด 2,461 หัวชาร์จ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 ได้มีการเปิดอาคาร “EV Smart Building” อาคารจอดรถ รามาธิบดี- พลังงานบริสุทธิ์สนับสนุนพื้นที่โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นอาคารต้นแบบแห่งแรกที่ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 578 เครื่อง พร้อมให้บริการสถานีชาร์จทั้งระบบ AC Normal Charge ขนาด 7.3 kW จำนวน 576 เครื่อง ดำเนินการครอบคลุม 100% ทุกช่องจอดรถในอาคาร และระบบ DC Fast Charge 360 kW จำนวน 2 เครื่อง เป็นอาคารต้นแบบเพื่อการพัฒนาพื้นที่สำหรับอาคารชุด อาคารสำนักงาน และอาคารขนาดใหญ่ อาทิห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, คอนโดฯ, Mix Use และ Community Mall โดยการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่เดิมให้เกิด การใช้พลังงานไฟฟ้าที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน

- บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ATT)

บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีและส่งให้บริษัทในกลุ่มทั้งหมด บริษัทฯ อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีคาดว่าจะแล้ว เสร็จภายในไตรมาสที่ 2/ 2566 และขยายเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 บริษัทฯ ได้จัดตั้ง บริษัท ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด (BEV)

สำหรับให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพของแบตเตอรี่ในมาตรฐานต่างๆ รวมถึงการให้บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล ปัจจุบันศูนย์ BEV ได้รับการรับ มอก.17025-2561 (ISO/IEC 17025-2017) ความสามารถของปฏิบัติการทดสอบ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานดังกล่าวเป็นข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วย ความสามารถห้องปฏิบัติการในการดำเนินงานการทดสอบ ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดด้านการบริหารงานคุณภาพและข้อกำหนดทางวิชาการ โดยมาตรฐานนี้สามารถที่จะนำมาใช้ได้กับทุกองค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมการทดสอบ

ธุรกิจผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์

- บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB)

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันได้ดำเนินกระบวนการผลิตเต็มรูปแบบ โดยสามารถรองรับการผลิตรถได้หลายประเภท เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก รถที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เป็นต้น ทั้งนี้รถไฟฟ้าดังกล่าวที่ผลิตโดย AAB ได้ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของในเขตปลอดอากร บริษัทฯ ได้ส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าในปี2565 ทั้งหมด จำนวน 1,250 คัน และในไตรมาสที่ 1/2566 ได้มีการส่งมอบทั้งหมด จำนวน 790 คัน โดยจะแบ่งออกเป็นรถโดยสารไฟฟ้าขนาด 11 เมตร จำนวน 550 คัน รถหัวลากไฟฟ้า จำนวน 120 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้า จำนวน 120 คัน

- บริษัท ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MMC)

บริษัท ไมน์ โมบิลิตีคอร์ปอเรชั่น จำกัด (MMC) ดำเนินธุรกิจผลิตและประกอบรถกระบะไฟฟ้าด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในสายการผลิต โดยฝีมือคนไทย 100% ได้จดทะเบียนเป็นรถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของไทย

บริษัทฯ ได้มีการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าภายใต้ชื่อ “MINE MT30” ปัจจุบันได้มีการส่งมอบรถเพื่อให้ลูกค้านำไปทดลองใช้บริการโดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจด้านการขนส่ง สำหรับโรงงานประกอบดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและสามารถผลิตได้สูงสุด 3,000 คันต่อปี

- บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด (MMR)

บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด (MMR) ดำเนินธุรกิจพัฒนาและคิดค้นงานวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯได้ร่วมกับ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีนพัฒนาและผลิตหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าหรือรถจักร EV โดยสามารถขับเคลื่อนได้ระยะกว่า 300 กิโลเมตร ผสานเทคโนโลยีการอัดประจุ Ultra-Fast Charge ของ EA Anywhere ใช้เวลาชาร์จเพียง 1 ชั่วโมง และประหยัดต้นทุนพลังงานได้ถึงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถดีเซล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบการให้บริการร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในการทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting)

โครงการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงาน ใน สปป.ลาว

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 บริษัทฯ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย ความร่วมมือเพื่อการลงทุนในธุรกิจ ด้านพลังงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว รวมถึงโครงสร้างสายส่งไฟฟ้า (Transmission line) ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพครอบคลุมทั้งพื้นที่ สปป.ลาว และสามารถเชื่อมเข้ากับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการพัฒนาด้านระบบขนส่งเชิงพาณิชย์ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าและติดตั้งสถานีอัดประจุฯ Ultra-fast charge เพิ่มมูลค่าด้านพลังงานและด้านระบบคมนาคม