‘เพดานหนี้สหรัฐ’ ยิ่งใกล้เส้นตาย ยิ่งกระทบ ศก. สหรัฐหนัก
กูรูประเมิน แม้สถานการณ์ “เพดานหนี้สาธารณะสหรัฐ” ปรับตัวดีขึ้น ทว่าหากยิ่งขยับช้า ศก. สหรัฐยิ่งกระทบหนัก แนะซื้อกองทุนป้องกันความเสี่ยง
Key Points
- กูรูชี้สถานการณ์เพดานหนี้สาธารณะสหรัฐคลี่คลาย
- ดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐจำนวนมากปรับตัวขึ้น ตอบรับสถานาการณ์เพดานหนี้คลี่ลาย
- ยิ่งขยับเพดานหนี้ขึ้นช้าเท่าไร ยิ่งกระทบเศรษฐกิจสหรัฐมากเท่านั้น
- กูรูแนะนำซื้อกองทุนเฮดจ์ฟันด์
ประเด็นเรื่อง “เพดานหนี้สาธารณะ” ของสหรัฐ เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาที่ เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกมาเตือนว่า หากไม่สมาชิกรัฐสภา ไม่ผ่านกฎหมายขยับเพดานหนี้ขึ้นภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 สหรัฐจะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เป็นเม็ดเงิน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,036.2 ล้านล้านบาท)
เวลาล่วงเลยมากกว่า 5 เดือน ถึงวันนี้ (19 พ.ค. 2566) นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งต่างมองว่าท้ายที่สุดทั้ง โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต และเควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCathy) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน จะสามารถพูดคุยจนสามารถพลิกสถานการณ์ได้
โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ปรับตัวขึ้น 408.63 จุด หรือ 1.24% มาปิดตลาดที่ 33,420.77 จุด ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) ปรับตัวขึ้น 1.19% มาปิดที่ 4,158.77 จุด ส่วนดัชนีแนสแด็ก (Nasdaq) บวก 1.28% และมาปิดที่ 12,500.57 จุด
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า สาเหตุที่บรรดาดัชนีสำคัญของสหรัฐปรับตัวเป็นบวกขึ้นมาเนื่องจากถ้อยแถลงของ แมคคาร์ธี ช่วงก่อนหน้า ที่ว่า “ผมเชื่อว่าสหรัฐจะไม่ผิดนัดชำระหนี้” ท่ามกลางความกระตือรือร้นของทำเนียบขาวและสภาคองเกรสในการหาทางเจรจาเพื่อ “แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในประเด็นดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะคลี่คลายมากขึ้น นางสาวศิริพร สุวรรณการ กรรมการผู้จัดการอาวุโส จาก Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แสดงความคิดเห็นในบางช่วงผ่านบทความ “เส้นตายเพดานหนี้สหรัฐฯ ความเสี่ยงใหม่ที่ไม่อาจมองข้าม” วันนี้ ว่า
“แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่สหรัฐ จะผิดนัดชำระหนี้ แต่หากปล่อยให้ใกล้เส้นตายมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของสหรัฐมากเท่านั้น
“รวมทั้ง จะทำให้ตลาดเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 ที่สหรัฐ ผ่านกฎหมายขยายเพดานหนี้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะถึงกำหนดเส้นตาย ส่งผลให้ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เป็น AA+ และทำให้ตลาดหุ้น (ดัชนี S&P500) ดิ่งลงกว่า -15% ในเวลาไม่กี่วัน สะท้อนความตื่นตระหนกของนักลงทุน”
โดย นางสาวศิริพร แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันตลาดหุ้นจะยังไม่ได้ปรับตัวลดลงเหมือนในปี 2011 ทว่าก็เริ่มมีเค้าลางจาก ตราสารอนุพันธ์ของ “1-Year US Credit Default Swap” หรือ CDS ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน ม.ค. สะท้อนถึงความกังวลของบรรดานักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนๆ ประกอบกับ ตอนนี้มีหลายปัจจัยที่คล้ายกับช่วงปี 2011 คือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่คนละขั้วการเมืองกัน
ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานคำแถลงของกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิปดีสหรัฐ และลาเอล เบรนาร์ด (Lael Brainard) ผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ (NEC) ของทำเนียบขาว วันนี้ ว่า
หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้จริงจะส่งผลโดยตรงทำให้ประเทศเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยที่ผ่านมาตัวแทนจากพรรครีพับลิกันพยายามทำทุกวิถีทางในการบีบให้ ไบเดน ยอมตัดงบหรือยกเลิกโครงการที่ให้ความช่วยเหลือต่อประชาชน ในเชิงรัฐสวัสดิการเพื่อแลกกับการยอมผ่านกฎหมายขยับเพดานหนี้
ด้านเยลเลน ออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า “บทเรียนในอดีตบอกเราว่า การประวิงเวลาจนวินาทีสุดท้าย แล้วค่อยขยับเพดานหนี้ขึ้นจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศ และความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ รวมทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งยังทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นของประชาชนผู้เสียภาษีปรับตัวสูงขึ้นด้วย”
อารี เบิร์กมันน์ (Ari Bergmann) กรรมการเจ้าหน้าที่บริหารที่เพนโซ แอดไวเซอร์ส (Penso Advisors) บริษัทให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า นักลงทุนควรป้องกันความเสี่ยง (Hedge) หลังจากผ่านกฎหมายขยับเพดานหนี้ขึ้น
“กระทรวงการคลังจะต้องแย่งชิงงบประมาณเพื่อเติมเต็มบัฟเฟอร์เงินสดที่ย้อยลงเพื่อรักษาความสามารถในการชําระภาระหนี้ผูกพันผ่านการขายตั๋วเงินคลัง”
ทั้งนี้ เบิรกมันน์ กล่าวต่อว่า ภายในสิ้นไตรมาส 3 การเพิ่มขึ้นของความต้องการขาย (Supply Burst) ซึ่งคาดว่าอาจแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านล้านบาท) จะทำให้สภาพคล่องของธนาคารลดลงอย่างรวดเร็ว เพิ่มฟันดิ้ง เรท (Funding Rate) ระยะสั้น และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเฟิร์มขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงเข้าสู่รีเซสชั่น
ทั้งนี้ นางสาวศิริพร ยังแนะนำกลยุทธ์การลงทุนท่ามกลางตลาดหุ้นและตราสารหนี้ที่ผันผวนสูง สอดคล้องไปกับตามเงื่อนไขและความคืบหน้าของการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ในรัฐสภาสหรัฐ ว่า
“เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวน กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้จึงยังไม่ควรรีบเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับตลาดโดยรวมต่ำ อย่างกองทุนเฮดจ์ ฟันด์ โดยกลยุทธ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้คือเฮดจ์ฟันด์ที่อาศัยโมเดลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ในการซื้อ (Long) และขาย (Short) หุ้นสหรัฐ จึงสามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง”