‘3 มรสุม’ ทุบเศรษฐกิจเวียดนาม ฉุด ‘กำไรบจ.’ เข้าสู่ภาวะถดถอย
นักวิเคราะห์ประเมิน “เวียดนาม” เผชิญ 3 มรสุมกระทบเศรษฐกิจ ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาหนี้เสีย และภาคส่งออกชะลอตัว แม้บางส่วนยังมองว่า ท่องเที่ยว-โรงไฟฟ้า มีโอกาสทำกำไร
Key Points
- เศรษฐกิจเวียดนามเผชิญความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาหนี้เสีย และ ส่งออกชะลอตัว
- ภาคการส่งออกเวียดนามหดตัวเพราะอุปสงค์ต่างประเทศของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชะลอ
- มาร์เก็ตแคป ภาคอสังหาฯ-ภาคธนาคารพาณิชย์ คิดเป็นเกือบ 60% ของตลาดหุ้นเวียดนาม
- โรงไฟฟ้า-ท่องเที่ยว ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
“ตลาดหุ้นเวียดนาม” ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในบรรดานักลงทุนรายใหญ่ และรายย่อย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่โดดเด่น ประชากรชนชั้นกลางที่ขยายตัว รวมทั้งความเป็นเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งในระยะสั้นเวียดนามก็ยังต้องเผชิญกับ “ความท้าทาย” ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ และภาคการส่งออกที่ชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office (CIO) SCB ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงปัญหาที่เวียดนามกำลังเผชิญว่า ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม หดตัวลง 12% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นผลมาจากยอดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสมาร์ตโฟนในไตรมาส 1 ย่อตัวลง 15% และ 10% ตามลำดับ
จากการปรับฐานลงของภาคการส่งออกส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจเวียดนามในภาพรวมชะลอตัว จนหลายบริษัทเริ่มปลดพนักงาน ประกอบกับผลประกอบการไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และไตรมาส 1 ปีนี้ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามปรับตัวลง 14% และ 16% ตามลำดับ ซึ่งทำให้เวียดนามเข้าสู่สภาวะ“เอิร์นนิ่ง รีเซสชั่น” หรือ ผลดำเนินงานถดถอย
มากไปกว่านั้น หลายบริษัทในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จำนวนมาก ซึ่งเดือนที่แล้วมีการผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วมูลค่ากว่า 4.8 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 20% จากเดือนก่อนหน้า และภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการผิดนัดชำระหนี้ครั้งนั้น
โดยในเดือน พ.ค. ถึง พ.ย. ที่จะถึงนี้มีหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงว่าหลายบริษัทจะผิดนัดชำระหนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามเล็งเห็นปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ จึงอนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์เข้าไปซื้อหุ้นกู้คืนได้ ทว่าก็กลายไปเป็น เอ็นพีแอล ถึง 8.2% ประกอบกับหลายแห่งยังขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปอีก
จากทั้งปัญหาเรื่องภาคส่งออกชะลอตัว การผิดนัดชำระหนี้ของภาคส่วนต่างๆ ประกอบกับประเด็นเรื่องหนี้เสียข้างต้น ดร. กำพล จึงระบุว่า เป็นสาเหตุให้ทาง เอสซีบี ให้ระดับของเศรษฐกิจเวียดนามและตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ในขั้น “ค่อนข้างเป็นลบ” หรือ Slightly Negative แต่หากในอีก 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลสามารถจัดการปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ดี ก็อาจมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นได้
“แม้อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Foward P/E) ของหุ้นเวียดนามจะถูกมากอยู่ที่ต่ำกว่า 10 เท่า แต่เราก็ยังมองว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่น่าสนใจอยู่ดี เพราะจากข้อมูลพบว่า มาร์เก็ตแคปของภาคอสังหาริมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ คิดเป็น 57% ของมาร์เก็ตแคปทั้งหมดของตลาดหุ้นเวียดนาม ดังนั้นถ้าทั้งสองภาคส่วนแย่ ทั้งตลาดหุ้นก็จะแย่ไปด้วย”
ด้าน นายพิชัย ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่ากับกรุงเทพธุรกิจว่า เศรษฐกิจเวียดนามได้รับแรงกดดันจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ จากสภาวะเงินตึงตัวอย่างมาก โดยในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้มีหุ้นกู้จำนวนมากจะถึงกำหนดชำระ
“ข้อเสียของเวียดนามคือใช้เงินแบบไม่สอดคล้องกัน (Mismatch) คือภาคอสังหาริมทรัพย์ไปกู้เงินระยะสั้น 1-2 ปีแล้วมาซื้อที่ดินตุนไว้ แต่พอเศรษฐกิจชะลอตัว คนซื้อบ้านน้อยลง เงินตึงตัว แล้วตามธรรมชาติที่ดินจะขายออกต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะสร้างบ้านได้ แต่หุ้นกู้ครบแล้ว หลายบริษัทจึงหมุนเงินไม่ทัน และเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด”
นายพิชัย กล่าวเสริมว่า ในระยะสั้น 3-6 เดือน หรือแม้กระทั่ง 1 ปีตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่น่าสนใจ “แต่ถ้าหลับตาถือไปสัก 2 ปี แล้วตอนนั้นรัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ผมก็มองว่าระยะยาวก็อาจเติบโตได้ เพราะสังคมเมืองขยายตัว รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประกอบกับมูลค่าหุ้นยังถูกอยู่”
ส่วน นายรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจในมุมมองที่ต่างออกไปว่า จากแนวโน้มที่ธนาคารกลางเวียดนามยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเรื่อยๆ โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3.5%
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวผ่านการขยายเวลา ระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย ทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-visa) จากเดิม 30 วันเป็น 90 วัน
รวมทั้งการอนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า คือเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินไปเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งหมดก็อาจเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อ หุ้นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและหน้าหุ้นที่อิงกับการเปิดเมืองอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังจำเป็นต้องรับความเสี่ยงในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าของเวียดนาม ที่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่น่าเชื่อถือเช่นกัน เนื่องจากหากประชาชนใช้ไฟฟ้าพร้อมกันจำนวนมาก รัฐบาลจะต้องระงับการใช้ไฟในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเปิดให้ใช้อีกรอบเมื่อสถานการณ์ปกติ
เมื่อถามถึงประเด็นเรื่อง “การผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์” นายรัฐศรัณย์ กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าในภาพรวมก็อาจจะทำให้บริษัทในภาคอสังหาทำธุรกิจได้ไม่ง่าย แต่ในแง่ของราคาหุ้น นักลงทุนพูดถึงประเด็นนี้มาเป็นปีแล้ว พวกเขาคำนวณความเสี่ยงเหล่านั้นเข้าไปในราคาหุ้น (Price In) ไปหมดแล้ว” พร้อมเสริมว่า “เห็นด้วยว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นเวียดนามอาจแกว่งไซด์เวย์ไม่ไปไหน แต่ในอีกหนึ่งปี เชื่อว่าจะมีอัพไซด์”
“ต้องไม่ลืมว่าตลาดหุ้นเวียดนามประกอบไปด้วยนักลงทุนรายย่อยกว่า 90% ในตอนนี้นักลงทุนเห็นผลตอบแทนในตลาดหุ้นไม่ดี พวกเขาก็ถอย แต่พอตลาดหุ้นปรับตัวสดใสมากขึ้น เวลาที่พวกเขาแห่ซื้อ หุ้นก็พร้อมขึ้นเช่นเดียวกัน”