เปิดเหตุผล ‘บัฟเฟตต์’ หนี 'จีน - ไต้หวัน' ลุยเก็บหุ้น ‘ญี่ปุ่น’ 

เปิดเหตุผล ‘บัฟเฟตต์’ หนี 'จีน - ไต้หวัน' ลุยเก็บหุ้น ‘ญี่ปุ่น’ 

“ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์” ผลัก “นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่แห่งโอมาฮา” ให้หนีจากตลาดทุน จีน - ไต้หวัน สู่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

Key Points

  •  นักลงทุนจำนวนมากต่างเดินทางไปประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เมื่อต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
  •  หนึ่งในเรื่องที่นักลงทุนตั้งคำถามคือ การเทขายหุ้น TSMC ของไต้หวัน
  •  “บริษัทในญี่ปุ่น” มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง และให้ปันผลสม่ำเสมอ

สำหรับ “แอนโทนิอัส บูเดียนโต” (Antonius Budianto) นักลงทุนอิสระในตลาดหุ้น ชาวอินโดนีเซีย การได้ไปเยือน เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา สักครั้งหนึ่งในชีวิตก็นับเป็นเหมือน “ฝันที่เป็นจริง”

แอนโทนิอัส เดินทางจากทางตะวันออกของเกาะชวา กับภรรยาและลูกสาววัย 14 ปี โดยขณะยืนรอคิวอยู่หน้าศูนย์สุขภาพของโอมาฮา เวลาตี 3 เพื่อคว้าที่นั่งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปีของบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. แอนโทนิอัส กล่าวว่า 

“ผมต้องการเข้าใกล้โพเดียมมากที่สุด ในตอนที่ไอดอลเรื่องธุรกิจสองคนของเขาคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) และ ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) อยู่ระหว่างการตอบคําถามจากผู้ถือหุ้น และผู้ชมทั่วโลก”

แอนโทนิอัส ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียมานานกว่า 20 ปี ด้วยการยึดมั่นในแนวทางของบัฟเฟตต์ คือ มุ่งเน้นไปที่บริษัทไม่กี่แห่งที่มีรายได้แข็งแกร่ง การจ่ายเงินปันผลที่มั่นคง และการกํากับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งยึดมั่นในแนวทางเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของแอนโทนิอัส เขาหาเลี้ยงชีพในฐานะ “ฟูลไทม์เทรดเดอร์” มาตั้งแต่ปี 2010 หรือกว่า 13 ปีมาแล้ว

"[ผม] เหนื่อยมาก แต่อิ่มอกอิ่มใจ" เขาบอกกับนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) หลังการประชุม โดยเสริมว่า เขาได้รับ "ความรู้มากมาย" จากผู้สูงอายุ 2 คน ซึ่งตอบคําถามหลายสิบข้อนานกว่า 5 ชั่วโมง

ทั้งนี้ แอนโทนิอัส เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ ที่มีมากกว่า 30,000 คน ซึ่งเดินทางไป “แสวงบุญ” ที่เมืองเล็ก ๆ ในมิดเวสต์แห่งนี้ เพื่อฟังสิ่งที่ "ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโอมาฮา" แถลง

ประธานและซีอีโอวัย 92 ปีของเบิร์กเชียร์ ซึ่งชอบรับประทาน สเต๊ก เฟรนช์ฟรายส์ และโค้กรสเชอร์รี รวมทั้งยังไม่ค่อยออกจากเมืองโอมาฮา ให้คําแนะนําด้านการลงทุน และการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเรียบง่าย 

รวมทั้ง พอร์ตการลงทุนของ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ก็เรียบง่าย และธรรมดาเหมือนคำพูดของบัฟเฟตต์ โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) ของบัฟเฟตต์ ประกอบด้วยหุ้นสหรัฐ 5 ตัว ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนหน้านี้จะมีเพียงบริษัทในอเมริกาเท่านั้น  ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ บัฟเฟตต์ได้เริ่มลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน และตอนนี้ “เอเชีย” มีสัดส่วนการเติบโตอย่างมากในพอร์ตโฟลิโอของ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ และอาจมีสัดส่วนที่มากขึ้นไปอีกในอนาคต

อันที่จริง หนึ่งใน “ท่าทีที่โดดเด่น” ที่สุดในเอเชียล่าสุดสําหรับผู้เข้าร่วมการประชุมคือ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เข้าซื้อหุ้นไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) หรือ TSMC คิดเป็นเงินกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท) ใน “เพียงเพื่อขายทิ้ง” ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา และหากอ้างอิงตามหนังสือชี้ชวนการลงทุนไตรมาสล่าสุด เดือนพ.ค. อาจสรุปได้ง่ายๆ ว่า บัฟเฟตต์ขายหุ้น TSMC เกลี้ยงพอร์ตของ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์

การตัดสินใจดังกล่าวดูเหมือนจะเน้นย้ำว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ไม่ต้องการรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากประเด็นความขัดแย้งด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์”

ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนเม.ย. บัฟเฟตต์บอกใบ้ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับนิกเคอิ เอเชีย ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นว่า ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์เป็น "สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างแน่นอน" เนื่องจากภูมิศาสตร์ของ TSMC มีความสําคัญ พร้อมเสริมว่า "ถามว่าที่ตั้งมีความหมายหรือไม่ การตั้งอยู่ในเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา และในไต้หวันแตกต่างกันไหม? คำตอบคือ ใช่ แตกต่างแน่นอน" 

เมื่อถูกกดดันจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมฯ เกี่ยวกับ “นัยของช่วงเวลาที่ขาย” จากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์รอบเกาะไต้หวัน บัฟเฟตต์โต้ตอบว่า 

"จริงๆ ประเด็นความขัดแย้งในไต้หวันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่เข้าซื้อหุ้นใหม่ๆ " โดยบัฟเฟตต์ไม่ได้ตอบเหตุผลโดยตรง และระบุเพียงว่า "ผมแค่ไม่ชอบที่ตั้งของบริษัทฯ และได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้ว" 

บัฟเฟตต์ยกย่อง TSMC ในการประชุมผู้ถือหุ้นว่าเป็น "หนึ่งในบริษัทที่มีการจัดการที่ดีที่สุด และมีความสําคัญที่สุดในโลก" โดยเสริมว่า ที่ผ่านมา เขาเล่นไพ่บริดจ์กับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC ในเมืองอัลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐ ด้วย

ขณะเดียวกันในเดือนเม.ย. บัฟเฟตต์เดินทางไปญี่ปุ่น และให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ ว่า เขาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน “ห้ากลุ่มบริษัท” ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์

"ผมรู้สึกดีที่ใช้เงินเพื่อลงทุนในญี่ปุ่นมากกว่าในไต้หวัน" กูรูด้านการลงทุนวัย 92 ปีกล่าวกับผู้ถือหุ้น โดยเขาไม่ได้กล่าวคําว่าขายหุ้นเพราะปัญหาด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์”โดยตรงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น แต่กล่าวเพียงว่า "[ผม] ก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่านั่นเป็นความจริง และ [เรา] คำนวณอย่างถี่ถ้วนถึงสิ่ง บางสิ่ง ที่จะเกิดขึ้นในไต้หวันแล้ว" 

“บางสิ่ง” ที่บัฟเฟตต์ระบุถึง น่าจะเป็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีนที่ร้อนแรงขึ้น บริเวณช่องแคบไต้หวัน แม้ว่าจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์อย่างชัดเจนระหว่างตอนที่บัฟเฟตต์เข้าซื้อ และตอนที่เขาเทขายหุ้น TSMC ทิ้งก็ตาม

นอกเหนือจากความกังวลที่ชัดเจนของบัฟเฟตต์ต่อความมั่นคงแล้ว เขายังบอกอีกว่าการออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่นเป็นการตัดสินใจที่ "ง่าย" เพราะบริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์พูดซ้ำ ๆ ว่า ชอบเนื่องจากการซื้อคืนเพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นทั้ง 5 แห่งมีการซื้อขาย (เทรด) ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีโดยมีอัตราเงินปันผลตอบแทนประมาณ 5% เมื่อบัฟเฟตต์เข้ามาในปี 2019 

นอกจากนี้เขาบอกกับซีเอ็นบีซี (CNBC) ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.ว่า "พวกเขาซื้อขายกันด้วยราคาที่ผมมองว่าตลกสิ้นดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ณ เวลานั้น"

ด้าน ผลประกอบการประจําปีล่าสุดของบริษัทที่บัฟเฟตต์เข้าไปถือหุ้นทั้ง 5 แห่ง ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 9 พ.ค. แสดงให้เห็นว่า ผลกําไรและเงินปันผลเพิ่มขึ้นอย่างมาก และสําหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค. กําไรสุทธิรวมของทั้ง 5 บริษัทอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านเยน หรือเพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อนหน้า และการจ่ายปันผลเป็นเงินสดทั้งหมดอยู่ที่ 957 พันล้านเยน หรือเพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

หากสันนิษฐานว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เข้าซื้อหุ้น 7.4% ใน บริษัทเหล่านั้น ก่อนการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 31 มี.ค. รายได้จากเงินปันผลโดยประมาณจะอยู่ที่ประมาณ 510 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.7 หมื่นล้านบาท) ตามแผนการจ่ายเงินปันผลของบริษัททั้ง 5 แห่ง โดยตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 565 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท) ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. 2024

โดยตัวเลขเหล่านี้ใกล้เคียงกับที่ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ได้รับเงินปันผลเมื่อปีที่แล้วจากการเป็นผู้ถือหุ้นหลักใน Coca-Cola ซึ่งอยู่ที่ 704 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท )

ข้อมูลประกอบการเขียน

1. https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Warren-Buffett-s-shifting-Asian-portfolio

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์