‘5 แนวคิด’ การลงทุนฉบับ First Jobber เสริมความมั่งคั่ง ทำอย่างไร
เปิด 5 แนวทางการลงทุน ฉบับ “เฟิร์ส จ็อบเบอร์” เสริมความมั่งคั่ง เพื่ออนาคตที่สดใส เริ่มตั้งแต่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ไปจนถึงการหาความรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติม
Key Points
- ต้องมั่นใจว่ามีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินก่อนลงทุน
- ควรลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทก่อน
- หลายธนาคารเปิดให้สร้างบัญชีเพื่อเกษียรส่วนบุคคล
- ใช้เครื่องมือช่วยลงทุน โดยตัดเงินจำนวนน้อยๆ ทุกเดือน
- ควรเรียนรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่งคั่งมากขึ้น
แนวคิดเรื่องการลงทุนอาจฟังดูซับซ้อนและยาก โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็น “เฟิร์ส จ็อบเบอร์” หรือเด็กจบใหม่ที่เริ่มทำงานเป็นที่แรก เพราะเกรงว่าอาจต้องใช้เงินจำนวนมาก หรือต้องเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องตลาดหุ้น แต่ทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริงเลย
โดยถ้าอ้างอิงตามคำกล่าวของ เอริน วอยซี (Erin Voisi ) ผู้อํานวยการฝ่ายวางแผนการเงิน จาก อีพี เวทธ์ แอดไวเซอร์ (EP Wealth Advisors) บริษัทจัดการความมั่งคั่งสัญชาติอเมริกัน ที่ระบุว่า
“ทุกคนสามารถลงทุนได้ ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม และจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องเริ่มลงทุน เพราะจะทำให้พวกเขารู้ความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของตลาด โดยเมื่อพวกเขาดูข่าวเกี่ยวกับธุรกิจหรือหุ้น ก็จะเริ่มเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น”
โดยข้อมูลด้านล่างคือคำแนะนำด้านการลงทุนสำหรับเด็กจบใหม่ทั้งหมด 5 ข้อ
1. ต้องมั่นใจว่ามีเงินสำรองสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
สเตฟานี โอคอนเนลล์ (Stefanie O'Connell) ปรึกษาทางการเงินสําหรับคนรุ่นมิลเลนเนียลและผู้เขียนหนังสือ "The Broke and Beautiful Life" กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นอย่างมากที่ต้องมี “เบาะรอง” สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
“แม้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณจะต้องเริ่มลงทุน แต่ก็ต้องมั่นใจว่ามีเงินสดสำรองในบัญชีออมทรัพย์ก่อนที่จะเริ่มแบ่งเงินเพื่อการลงทุนและการออมตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยควรมีเงินเก็บให้เพียงพอสำหรับ 3-9 เดือนก่อนเริ่มลงทุน”
2. เริ่มลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานก่อน
เมื่อคุณมีเงินเก็บสำรองแล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นการเริ่มลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานตัวเอง
อันเดรีย คูมเบส (Andrea Coombes) ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่ เนิร์ดวอลเล็ต (NerdWallet) บริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน สัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการลงทุนสำหรับบรรดาคนที่เพิ่งจะเริ่มทำงานคือ ลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงาน
“หลายครั้งที่ทำงานจะช่วยสมทบเงินลงทุนตามจำนวนเงินที่คุณลงไป นั้นเหมือนเงินฟรีๆ ที่คุณได้รับมาโดยไม่ต้องทำอะไร ”
3. เปิดบัญชีเงินฝากสำหรับการเกษียร
หากบริษัทของคุณไม่มีแผนเกษียณอายุให้ คุณก็สามารถเปิดบัญชีเกษียณอายุได้ด้วยตัวเอง
โดย คูมเบส กล่าวต่อว่า “หากคุณไม่มี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุในที่ทํางาน หรือเป็นแผนที่คุณไม่ต้องการ ให้พิจารณาเปิดบัญชีเกษียณอายุส่วนบุคคล หรือ IRA โดยสามารถเปิดบัญชีได้กับโบรกเกอร์ออนไลน์ทั่วไป”
4. ลงทุนแบบตัดเงินอัตโนมัติด้วยจำนวนน้อยๆ
หากคุณไม่ต้องการจับสภาวะตลาดตลอดเวลา และนั่งมอนิเตอร์หุ้นทั้งวัน คุณอาจลองใช้เครื่องมือ “ตัดเงินออมอัตโนมัติ” ทุกเดือนได้เช่นกัน
วอยซี ระบุว่า “เป็นเรื่องที่ง่ายมากที่ปล่อยให้ระบบตัดเงินลงทุนโดยอัตโนมัติ โดยคุณไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องการเพิ่มหรือลดจำนวนเงินลงทุนขณะที่คุณทำงานหรือใช้ชีวิต แต่ก็ต้องตรวจสอบค่าธรรมเนียมการตัดเงินในการลงทุนแต่ละครั้งให้เหมาะสม”
อย่างไรก็ดี โอคอนเนลล์ ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าการลงทุนด้วยการตัดเงินเช่นนี้เป็นวิธีการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังไม่ใช่กลยุทธ์การลงทุนในระยะยาวที่ดีที่สุด
“ดังนั้น ขณะที่คุณเริ่มลงทุนในด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบตัดเงินทีละน้อยๆ เช่นนี้ แต่หลังจากนั้น คุณอาจต้องการก้าวไปอีกหนึ่งขั้น และเพิ่มจำนวนการลงทุน เพื่อเสริมความมั่งคั่งให้สูงขึ้น”
5. เรียนรู้บทเรียนเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม
วอยซี ระบุว่า หากคุณต้องการเสริมความมั่งคั่งให้มากขึ้น คุณจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่มักนึกถึงหุ้นหลักๆ เพียงไม่กี่ชื่อสำหรับการลงทุน
“คนรุ่นใหม่ชอบลงทุนในหุ้นที่คิดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น หุ้นของบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ หรือแม้แต่หุ้นที่พวกเขาเสริชในกูเกิลว่า ‘หุ้นน่าซื้อ’ ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Google, Facebook หรือ Snapchat ”
“จริงๆ แล้วไม่จำเป็นที่หุ้นบิ๊กเนมเหล่านั้นต้องเป็นหุ้นที่ไม่ดี เพราะทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดมากกว่า” พร้อมกล่าวเสริมว่า “แต่เพื่อให้การลงทุนที่รอบคอบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณควรหาข้อมูลเรื่องการลงทุนและหุ้นแต่ละตัวมากขึ้น”
“ทั้งนี้ ต้องมั่นใจว่าคุณมีทุ่มเงินทั้งหมดใส่ตะกร้าหุ้นอันเดียว หรือลงทุนโดยไม่รู้เลยว่าทำไมถึงใส่เงินไปในหน้าหุ้นนี้ นอกเสียจากเห็นเพื่อนลงทุน หรือเห็นแนะนำในโซเชียลมีเดีย”
วอยซี ทิ้งท้ายว่า ไม่มีใครที่เด็กเกินไปสำหรับการมีที่ปรึกษาทางการเงิน เพราะไม่มีใครที่เด็กเกินไปสำหรับการเริ่มลงทุน ดังนั้นหาที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม