ไทยเกิด ‘เอลนีโญ’ หุ้นไหนได้-เสียประโยชน์
ประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และน่าจะลากยาวไปจนถึงกลางเดือน ต.ค. ตามการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ดูแล้วปีนี้ไม่น่าจะชุ่มฉ่ำเท่าไหร่
โดยกรมอุตุฯ คาดว่าปริมาณฝนรวมทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5% โดยฝนจะทิ้งช่วงในหลายพื้นที่นานขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตามมา
ทั้งนี้ กรมอุตุฯ ประเมินว่า ปีนี้มีโอกาสที่จะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. และต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.พ. 2567
ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้อุณหภูมิความร้อนโดยเฉลี่ยสูงขึ้น ฝนตกน้อย หลายจังหวัดอาจประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตร ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
แน่นอนว่าเมื่อผลผลิตลดลง ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่จะขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่ถ้าผลผลิตออกมาน้อยมากๆ เกษตรกรจะไม่มีสินค้าไปขาย ขาดรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย
โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบสูงในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเอลนีโญในปีนี้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท
หนึ่งในสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ จนส่งผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก คือ “อ้อย” ทำให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปีนี้พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี ทะลุ 27 เซนต์ต่อปอนด์ กลายเป็นปัจจัยบวกให้กับ “กลุ่มน้ำตาล”
ส่วน “กลุ่มเนื้อสัตว์” จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่จะถูกชดเชยจากราคาขายที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอากาศร้อนผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดยิ่งน้อยลง
บล.บัวหลวง ระบุว่า มีโอกาสเกิดเอลนีโญในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 55% โดยโอกาสเกิดสูงจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 – ไตรมาส 4 ปี 2566 และทรงตัวระดับสูงที่ 93% ไปจนถึงเดือน ก.พ. 2567 โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ เกิดภาวะแล้งในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย ผลิตน้ำตาล
ขณะที่อีกฟากที่ปลูกถั่วเหลืองมากจะเกิดฝนตกมาก ทำให้ผลผลิตจะออกมามาก ถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มน้ำตาล แต่กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกลุ่มถั่วเหลือง
ส่วนผลกระทบอื่นๆ เช่น ราคาทูน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นระหว่างเอลนีโญ กลายเป็นปัจจัยลบต่อ TU เนื่องจากราคาทูน่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเอลนีโญอย่างมาก อย่างไรก็ตามผู้บริหาร TU ประเมินว่าราคาทูน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2566 โดยฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำซื้อเก็งกำไร KSL และถือ TVO
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า เมื่อฝนตกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ปริมาณผลผลิตการเกษตรที่จะมีขายลดน้อยลง แต่ปัจจัยบวก คือ ราคาขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น แต่จะเกิดความเสียหายมาก หากปริมาณผลผลิตการเกษตรมีน้อยจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้รายได้ลดลงไปอย่างมาก อีกทั้งจะส่งผลกระทบการส่งออกด้วย
โดยหุ้นที่จะได้รับประโยชน์เมื่อเกิดภัยแล้งอากาศร้อนมาก ได้แก่ ผู้ผลิตพัดลมและแอร์ ผู้ผลิตน้ำผลไม้และเครื่องดื่ม เช่น OSP, SAPPE, TIPCO, MALEE, ICHI, TACC เป็นต้น ซึ่งจะจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น
ส่วนหุ้นที่จะเสียประโยชน์เมื่อฝนตกน้อยหรือมีน้ำไม่เพียงพอ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตน้ำประปา EASTW, TTW, WHAUP