STARK บทเรียนหมื่นล้าน ตลาดทุนไทยเสียอะไรไปบ้าง?
หลังจากนี้ “หุ้น” หรือ “หุ้นกู้” ของบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็กอาจโดนลูกหลงจากกรณี STARK หากนักลงทุนไม่มั่นใจในกระบวนการจัดทำงบการเงิน ส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของบริษัทเหล่านี้และทำให้ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นตามไปด้วย
หลังจากอึดอัดมาหลายเดือนกับกรณีหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ด้วยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ในแวดวงตลาดการลงทุนฟันธงไปก่อนแล้วว่า น่าจะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับหุ้นSTARK ...และแล้วความจริงทุกอย่างก็ปรากฏ หลัง STARK แจ้งงบการเงินงวดปี 2565 โดยที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นที่มีต่องบการเงินดังกล่าว ขณะที่ผลสอบเชิงลึกพบการ “ทุจริต” เกิดขึ้นมากมาย มีผลให้ผลดำเนินงานของ STARK ในปี 2565 พลิกเป็น “ขาดทุนสุทธิ” กว่า 6.6 พันล้านบาท แม้ว่างวด 9 เดือนปี 2565 จะโชว์กำไรสุทธิกว่า 2.2 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีขาดทุนสะสมจำนวนมาก และส่วนผู้ถือหุ้นก็ติดลบ ชัดเจนว่า STARK มีความเสี่ยงสูงที่จะล้มละลาย
น่าเศร้าที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับ “ตลาดทุนไทย” แบบซ้ำซาก เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เพิ่งจะมีคดีการตกแต่งบัญชีที่ตุ๋นนักลงทุนทั้งประเทศ แม้แต่ “นายแบงก์” ก็ยังถูกหลอกลวงด้วยเช่นกัน นั่นคือ คดีของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่งคดีนี้ความเสียหายก็หลักหมื่นล้านบาท มีผู้เกี่ยวพันจำนวนมาก ลดทอนความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยไปไม่น้อย โดยแผลเป็นจากคดี EARTH ยังไม่ทันจะแห้งสนิทดี ก็มาถูกคดีของ STARK สะกิดขึ้นใหม่อีกรอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับหุ้น STARK กำลังทำให้ “ตลาดทุนไทย” เผชิญความท้าทายและถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เกิดประเด็นในลักษณะนี้ขึ้นได้ เพราะในมุมของนักลงทุนแล้ว สิ่งที่น่ากลัวสุดไม่ใช่การ “ปั่นหุ้น” แต่คือการ “แต่งบัญชี” …คำถามที่น่าจะผุดขึ้นมาในหัวของนักลงทุนหลายๆ คนหลังจากนี้ คือ แล้วงบการเงินของบริษัทอื่นๆ จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเร่งดับไฟก่อนที่ปัญหาทุกอย่างจะลามไปสู่วิกฤติความเชื่อมั่น
"ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ"ได้สอบถามความเห็นไปยังหลายๆ บุคคลที่อยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุน ส่วนใหญ่ให้มุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หลังจากนี้ “หุ้น” หรือ “หุ้นกู้” ของบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็กอาจโดนลูกหลงจากกรณี STARK แม้บริษัทเหล่านี้จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด แต่ถ้านักลงทุนไม่มั่นใจในกระบวนการจัดทำงบการเงิน ผลกระทบย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นการระดมทุนของบริษัทเหล่านี้ก็จะลำบากยากขึ้นด้วย แน่นอนว่าส่งผลต่อต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นตามไปด้วย …เห็นไหมว่าแค่บริษัทเน่าๆ ไม่กี่แห่ง แต่สั่นสะเทือนตลาดทุนทั้งระบบในทันที
คำถามหลังจากนี้ คือ ตลาดทุนไทยเจอบทเรียนมาแล้วหลายครั้ง จะป้องกันอย่างไรไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก เราเห็นด้วยกับ “คุณภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เรียกร้องให้วงการตลาดทุนต้อง “สังคยนา” ตัวเองใหม่ทั้งระบบ เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ประเด็นนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะแน่นอนว่าจะเกี่ยวพันไปถึงกระบวนการการทำธุรกิจ วิธีการตรวจสอบ การควบคุมดูแล หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบบางส่วนให้ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น ซึ่งเราหวังว่าการ “สังคยานา” จะเกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นตลาดทุนไทยจะกลายเป็นตลาดที่ถูกลืมในท้ายที่สุด!