ปริศนาหุ้น STARK เงินโอนหมื่นล้าน กับ ‘เอเชีย แปซิฟิก’ ใครอยู่เบื้องหลัง?
คดีตุ๋นลงทุน “หมื่นล้าน” ของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เริ่มอยู่ในความสนใจของนักลงทุนตั้งแต่วันที่ “มงคล ตั้งใจพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง “ซีอีโอ” ทั้งที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน
หลังจากนั้นไม่นาน STARK แจ้งขอส่งงบการเงินล่าช้า เพราะผู้สอบบัญชีพบความผิดปกติในงบการเงิน และนำมาซึ่งการ “ลาออก” แบบยกบอร์ด นำทีมโดย “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วยกรรมการคนอื่นรวม 7 คน
การลาออกยกชุดของ บอร์ด STARK ที่นำโดย “ชนินทร์” ทำให้แวดวงตลาดทุนเริ่มสืบหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับ STARK ซึ่งช่วงนี้เริ่มมีกลิ่นไม่ดีเกี่ยวกับงบการเงินว่าอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น
ในช่วงที่ STARK เจอสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะถูกสังคมชาวหุ้นตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหุ้น STARK โดยเข้ามารับตำแหน่ง “รักษาการซีอีโอ” แทนคนเดิมที่ลาออกไป
ประเด็นนี้ต้องบอกว่า “วนรัชต์” แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ STARK มาตั้งแต่ต้น แต่เจ้าตัวได้มอบหมายให้ทีมของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” เป็นผู้บริหารงานทั้งหมดแทน
อีกทั้ง “วนรัชต์” ยังได้กล่าวย้ำในที่ประชุม Public Presentation ของ STARK เมื่อช่วงสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า เขามีความตั้งใจเข้ามาเดินหน้าธุรกิจ STARK อย่างเต็มที่ และจะพลิกฟื้นบริษัทให้กลับมาเติบโต พร้อมๆ กับความน่าเชื่อถือ!
นอกจากนี้ วนรัชต์ ยังกล่าวต่อที่ประชุมในวันนั้นด้วยว่า STARK อยู่ระหว่างทำ Special Audit ร่วมกับ บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด หรือ PwC ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีหลัก เนื่องจากงบการเงินปี 2565 พบธุรกรรมที่อาจมีความผิดปกติที่เข้าข่ายการทุจริต ซึ่งหากผลการตรวจสอบออกมาแน่ชัดว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ทางบริษัทก็จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด
ต้องบอกว่า ภาพเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น คนในแวดวงตลาดทุนที่ติดตามคดีนี้ ล้วนตั้งข้อสันนิษฐานว่า การกระทำอันเข้าข่ายทุจริตที่เกิดขึ้นกับ STARK อาจเป็นฝีมือของทีมผู้บริหารชุดเก่าก็เป็นได้ …แม้ไม่มีใครกล้าฟันธงชัดเจน แต่ปมเหตุหลายๆ ด้าน ชวนให้มองไปในแง่นั้น
แต่ทว่า รายงานของผู้สอบบัญชีในงบการเงินปี 2565 ที่ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2566 ทำให้ผู้ติดตามคดีนี้ “อึ้งหนัก” เพราะหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ ซึ่งผู้สอบบัญชีนำออกมาเปิดเผย ดันชี้เป้าไปที่ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ซะเอง!
หลักฐานที่ว่านี้คือ ข้อมูลการปั้นรายได้เทียม รายจ่ายเทียม และลูกหนี้เทียม ซึ่งพบการโอนเงินไปมาระหว่างบริษัทย่อยของ STARK กับ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (เอเชีย แปซิฟิก) ที่มีมูลค่ารวมกันหลัก “หมื่นล้านบาท”
แน่นอนว่าเมื่อข้อมูลนี้ปรากฏออกมา คนย่อมสงสัยว่าแล้ว “เอเชีย แปซิฟิก” คือบริษัทอะไร ใครเป็นเจ้าของ ซึ่งทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจได้สอบเชิงลึก พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ เอเชีย แปซิฟิก ก็คือ บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 60% และที่อึ้งหนักไปกว่านั้นคือ ทีมเอ โฮลดิ้ง มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% คือ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” บุคคลที่ผู้ถือหุ้น STARK ฝากความหวังว่าจะเป็นผู้ที่มากอบกู้บริษัทนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ STARK ดูเหมือนจงใจวางแผน “ฉ้อโกง” กันเป็นกระบวนการมาตั้งแต่หลายปีที่แล้ว และแผนฉ้อโกงที่ว่านี้ ก็ยังสลับซับซ้อนเพราะแม้แต่ผู้สอบบัญชียังตรวจสอบได้ยาก …จึงมีคำถามว่า ถ้า “วนรัชต์” ตั้งใจโกงบริษัทตัวเองจริง ทำไมจึงเอาบริษัทที่มีชื่อตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องจนตกม้าตายแบบง่ายๆ เช่นนี้
มาถึงจุดนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วความจริงทั้งหมดคืออะไร? …เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้ยังต้องรอพิสูจน์กันต่อไป ล่าสุด ผู้สอบบัญชีได้ประสานไปยัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยขอให้เข้ามาช่วยตามรอยเส้นทางเงิน “หมื่นล้าน” ที่ถูกโอนออกไป เพื่อดูว่าสุดท้ายเงินก้อนนี้ตกอยู่ในมือใคร
ดังนั้นเมื่อเรื่องยังไม่จบ เหตุการณ์ทุกอย่างก็อาจจะพลิกผันได้ทุกเมื่อ โดยสรุปคดีนี้คงยังต้องตามกันอีกยาว!
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์