กันซ้ำรอย 'STARK' รู้จัก 8 เครื่องหมายเตือนหุ้นเฝ้าระวัง นักลงทุนต้องเข้าใจ
จากข่าวหุ้น STARK ที่ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย ก.ล.ต.และ ตลท.จึงให้ข้อมูลเครื่องหมายเตือนหุ้นที่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขาย เครื่องหมายดังกล่าวมีอะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร
Key Points
- กรณีอื้อฉาวหุ้น STARK ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลเร่งหามาตรการคุมเข้ม รวมถึงอาจออกเครื่องหมายใหม่ที่เตือนล่วงหน้าหุ้นเสี่ยงมีปัญหา
- หากหุ้นบริษัทนั้นได้รับเครื่องหมาย H แต่ยังคงไม่ชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลที่นักลงทุนควรรู้ออกมา ไม่นำส่งงบการเงินให้ ตลท.ภายในเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องขึ้นเครื่องหมาย SP
- หุ้นใดขึ้นเครื่องหมาย C ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน และโดยส่วนใหญ่ หุ้นเหล่านี้มักมีราคาหลักสตางค์ และมักเป็นหุ้นของการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุนระยะยาว
- หุ้นบริษัทใดขึ้นเครื่องหมาย Non-Compliance (NC) หมายถึง บริษัทนั้นเข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น จึงเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงมากและผู้ถือหุ้นบริษัทนั้นควรใส่ใจอย่างยิ่ง
สืบเนื่องจากกรณีหุ้นอื้อฉาวของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK” ที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีทุจริตภายในองค์กรและตกแต่งบัญชีขึ้น จากการที่งบการเงินปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเจ้าของ จากเดิม 6,591 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844 ล้านบาท และกำไร/ขาดทุนสุทธิ จากเดิมมีกำไร 2,794 ล้านบาท แก้ไขเป็น “ขาดทุน” 5,989 ล้านบาท อีกทั้งบริษัท STARK ยังเลื่อนการส่งมอบงบการเงินหลายครั้งด้วย
หน่วยงานกำกับดูแลนำโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอีก 9 องค์กรในตลาดทุน จึงเปิดเผยแนวทางการดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นในตลาด รวมถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบและแนวทางป้องกันปัญหาซ้ำรอยในอนาคต โดย ตลท.เตรียมออกเครื่องหมายใหม่ขึ้นเตือนล่วงหน้าหุ้นเสี่ยงมีปัญหา
นอกจากนี้ ก.ล.ต.และ ตลท.ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นเครื่องหมายบนหลักทรัพย์จดทะเบียนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อคุ้มครองนักลงทุน และย้ำเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการซื้อขายหุ้นที่ขึ้น “เครื่องหมายเตือน” ดังต่อไปนี้
1. เครื่องหมาย Trading Halt (H) หมายถึง เครื่องหมายห้ามซื้อขายหุ้นนั้นชั่วคราว แต่ละครั้งมีระยะเวลา “ไม่เกิน 1 รอบ” ของการซื้อขาย โดยตลาดหุ้นไทยเปิดซื้อขาย 2 รอบ คือ รอบแรกภาคเช้า เวลา 10.00 น. – 12.30 น. และรอบสองภาคบ่าย เวลา 14.30 น. – 16.30 น. ดังนั้น ถ้าขึ้น H รอบเช้า สามารถซื้อขายได้อีกครั้งในรอบบ่าย และถ้าขึ้นรอบบ่าย สามารถซื้อขายได้อีกครั้งในวันถัดไป
ตลท. จะขึ้นเครื่องหมายนี้สำหรับบริษัทในตลาดหุ้นที่เปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน มีข้อมูลสำคัญที่กระทบต่อนักลงทุน แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยออกมา รวมไปถึงข้อมูลบางอย่างของบริษัทเกิดข้อพิรุธขึ้น ต้องการคำชี้แจง ตลท.ก็จะขึ้นเครื่องหมาย H ท้ายชื่อหุ้นบริษัทนั้น
เมื่อบริษัทนั้นเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะออกมาครบถ้วนแล้ว ตลท.สามารถปลดเครื่องหมาย H ได้ตลอดเวลาในระหว่างช่วงเวลาซื้อขาย
2. เครื่องหมาย Trading Suspension (SP) หมายถึง เครื่องหมายห้ามซื้อขายหุ้นชั่วคราว คล้ายเครื่องหมาย H แต่รุนแรงกว่า เพราะเป็นการห้ามซื้อขายในระยะเวลา “เกินกว่าหนึ่งรอบ” การซื้อขายในแต่ละครั้ง
สาเหตุที่ ตลท.ขึ้น SP เพราะหลังจากที่บริษัทนั้นได้รับเครื่องหมาย H แต่ยังคงไม่ชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลที่นักลงทุนควรรู้ออกมา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบตลาดหุ้น ไม่นำส่งงบการเงินให้ตลท.ภายในเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องขึ้นเครื่องหมาย SP
- หุ้นการบินไทย ทั้งถูกหยุดซื้อขายหุ้น และถูกเพิกถอนจากตลาดหุ้นแล้ว -
3. เครื่องหมาย Pause (P) เป็นเครื่องหมายห้ามซื้อขายหุ้นนั้นชั่วคราวที่ใช้แทนเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป สำหรับ “หุ้นที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นสูงสุดระดับ 3” จากการที่หุ้นนั้นมีสภาพการซื้อขายอันผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ขึ้นสูงเกินพื้นฐานอย่างรวดเร็ว มีการซื้อขายหุ้นนั้นในปริมาณมากโดยบุคคลเพียงไม่กี่คน ฯลฯ จึงทำให้หุ้นนั้นถูกสั่งห้ามซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการ และเมื่อได้รับอนุญาตให้ซื้อขาย ต้องซื้อด้วยการวางเงินสด 100%
4. เครื่องหมาย Caution (C) หมายถึง เครื่องหมายที่แสดงว่า “ฐานะงบการเงินของบริษัทนั้นเกิดปัญหา” ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้วหลังหักส่วนต่ำมูลค่าหุ้น ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่า งบการเงินไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่บริษัทนั้นขอยื่นฟื้นฟูกิจการหรือล้มละลาย
ดังนั้น หุ้นใดขึ้นเครื่องหมาย C ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน และโดยส่วนใหญ่ หุ้นเหล่านี้มักมีราคาหลักสตางค์ และมักเป็นหุ้นของการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุนระยะยาว
- หุ้น NEWS มีปัญหาด้านงบการเงิน -
5. เครื่องหมาย Notice Pending (NP) หมายถึง ตลท.กำลังรอข้อมูลหรือคำชี้แจงที่สำคัญจากบริษัทหุ้นนั้น
6. เครื่องหมาย Notice Received (NR) หมายถึง ตลท.ได้รับข้อมูลหรือคำชี้แจงที่สำคัญจากบริษัทหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย NP แล้ว และจะขึ้นเครื่องหมาย NR เป็นเวลา 1 วัน
7. เครื่องหมาย Non-Compliance (NC) หมายถึง บริษัทนั้นเข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น อันมาจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นหรือแสดงความเห็นว่างบการเงินบริษัทไม่ถูกต้องติดต่อกันหลายปี บริษัทให้ข้อมูลเท็จแก่นักลงทุน บริษัทถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หลังจากเป็นบริษัทล้มละลาย ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้บริษัทนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะถูกถอดออกจากตลาดหุ้นได้
- หุ้น STARK ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกเพิกถอนจากตลาด -
8. เครื่องหมาย Stabilization (ST) หมายถึง บริษัทหลักทรัพย์จะซื้อหุ้นบริษัทนั้นคืนในระยะเวลา 30 วันหลังจากที่ขึ้นเครื่องหมายนี้ โดยเครื่องหมาย ST มักเกิดขึ้นกับหุ้น IPO (หุ้นที่เปิดขายสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก) ชื่อดังที่ประชาชนสนใจมาก มีคนสนใจจองมากกว่าจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขาย บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ขายหุ้น จึงจำเป็นต้องยืมหุ้นจากเจ้าของเดิมมาขายก่อน หรือก็คือจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้ผู้สนใจ
เมื่อหุ้นนี้เข้าสู่ตลาดซื้อขายแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ก็ต้องซื้อหุ้นคืนเจ้าของเดิมใน 30 วัน และแรงซื้อที่เกิดขึ้นนี้ มีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพราคาหุ้นได้อีกด้วย
โดยสรุปแล้ว ทั้ง 8 เครื่องหมายเตือนหุ้นดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการคัดกรองหุ้นลงทุนให้ดียิ่งขึ้นได้
อ้างอิง: set, prachachat