พิษ STARK 'บลจ.บัวหลวง’ รื้อใหญ่เกณฑ์ลงทุน หันใช้ ESG วิเคราะห์-ตีมูลค่าหุ้น
พิษ STARK 'บลจ.บัวหลวง’ รื้อใหญ่เกณฑ์ลงทุน หันใช้ ESG วิเคราะห์-ตีมูลค่าหุ้น แจงที่ผ่านมาไม่เกิดภาวะ “fund run” เหตุนักลงทุนเข้าใจ-เชื่อมั่นฝีมือบริหารการลงทุน พร้อมเดิมหน้าฟ้องหมู่ ร่วมกับบลจ.ที่ได้รับความเสียหาย
การทุจริตที่เกิดขึ้นในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK สร้างความเสียหายหลาย"หมื่นล้านบาท"แก่นักลงทุนทั้งบุคคล และนักลงทุนสถาบัน โดยถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของตลาดทุนไทย ที่หน่วยงานภาคตลาดทุนต้องร่วมกันยกเครื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการซ้ำรอยอีก ขณะที่นักลงทุนเองต้องพิจารณาการลงทุนที่เข้มงวดขึ้น
พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กรณีของ STARK นั้นเป็นการตกแต่งบัญชี ซึ่งเป็นการกระทำผิดของฝ่ายบริหาร ทำให้สิ่งที่เราใช้ในการพิจารณาการลงทุนจากข้อมูล"งบการเงิน"อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป
สำหรับการพิจารณาการลงทุนจากนี้ของ บลจ.บัวหลวง จะนำปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) เข้ามาร่วมในกระบวนการวิเคราะห์หุ้น ก่อนที่จะมีการตัดสินใจลงทุน และใช้ในการทบทวนหุ้นที่อยู่ในพอร์ตทุกตัวเช่นกัน เพราะการลงทุนของเรานั้นเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่เป็นการเก็งกำไร
ทั้งนี้เมื่อต้นปีท่ี่ผ่านมา บลจ.บัวหลวง ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับ Wellington Management เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองและแนวคิดการลงทุนกับประเด็นสำคัญด้าน “ความยั่งยืน” ให้กับบุคลากรของบลจ.บัวหลวง เพื่อนำมาวิเคราะห์และการตีมูลค่าหุ้น ปัจจัยเสี่ยงในมิติ ESG อยู่ตรงไหนบ้าง
โดยมิติด้าน G หรือ Governance ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะบริษัทนั้นบริหารด้วยคน และการที่จะรู้ข้อมูลบริษัทเพิ่มเติม ก็จะต้องคุยกับทางผู้บริหารบริษัทอย่างสม่ำเสมอ ทั้งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO),ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ซึ่งทางบลจ.บัวหลวงก็จะมีการนัดคุยกับทางผู้บริหารบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่มิติ S หรือ Social เราก็จะมีการสุ่มคุยกับพนักงานของบริษัท ว่าบริษัทได้มีการพัฒนาบุคลากร สวัสดิการ การดูแลชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง ส่วน E หรือ Environmental เราก็จะดูความตั้งใจของบริษัทว่าจะช่วยลดหรือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ทำให้เราต้องเรียนรู้การวิเคราะห์ด้าน climate analytics เพื่อนำไปสู่การวิเคหราะห์หุ้น เราต้องรู้ว่าในพอร์ตที่เราลงทุนคำนวณสุทธิแล้วหุ้นที่เราไปลงทุนนั้นปล่อยคาร์บอนเท่าไร
“จากนี้เราก็จะเข้มงวดขึ้นในทุกมิติ ในประเด็นงบการเงิน เราคงต้องลงลึกมากว่านี้ เพราะที่ผ่านมาเราเชื่องบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว เราคิดว่าโอเครแล้ว แต่กรณี STARK ทำให้เราต้องลงลึกมากขึ้น เราจะใช้ปัจจัย ESG เข้ามาดูหุ้นทุกตัวที่เข้าลงทุน ซึ่งเราจะทำไกด์ไลน์หรือคู่มือในการตั้งคำถามผู้บริหารจากที่เราเรียนรู้มาจาก Wellington"
พีรพงศ์ กล่าวว่า ความเสียหายจากการลงทุน STARK นั้น แม้ทางบลจ.บัวหลวง จะขายหุ้น STARK ออกมาหมดแล้ว แต่ด้วยราคาหุ้น STARK หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดให้มีการซื้อขายครั้งสุดท้าย (ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.) ก่อนที่จะขึ้น SP ยาวจนกว่า STARK จะแก้เหตุการเพิกถอนได้ปรับตัวลงมาต่อเนื่อง ทำให้มีกองทุนของเรามีผลขาดทุนเฉลี่ยกองละ 600-700 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูการทำกำไรของ 4 กองทุนที่เรามีนั้น มี 2 กองทุนที่เราบริหารจัดการมีกำไร ซึ่งกองแรกมีกำไร 2,000 ล้านบาท และอีกกองทุนมีกำไร 900 ล้านบาท ซึ่ง 2 กองทุนดังกล่าวทำกำไรได้มากกว่า ผลขาดทุน STARK ที่เกิดขึ้น โดยการบริหารจัดการกองทุนนั้นมีทั้งกำไรและขาดทุนเป็นเรื่องปกติ แต่ที่นักลงทุนต้องดูคือ งบการเงิน และกำไรสะสม ซึ่งจะสะท้อนมาที่NAV ของกองทุน
สำหรับปัญหาของ STARK นั้นไม่ทำให้เกิดภาวะ “fund run” หรือ ที่ผู้ถือหน่วยแห่เทขายหน่วยลงทุนออกมาจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันนักลงทุนยังคงซื้อกองทุน บลจ.บัวหลวงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองลดหน่อยภาษี SSF RMF รวมถึงกองทุนLTF แม้จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วนักลงทุนยังมั่นใจเข้ามาซื้อกองทุนLTF กับทางบลจ.บัวหลวง ซึ่งสะท้อนถึงนักลงทุนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในการบริหารการลงทุนของบลจ.บัวหลวง
ในส่วนการดำเนินคดีนั้น ทางบลจ.บัวหลวงได้มีการหารือกับทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ซึ่งทางบลจ.บัวหลวงจะดำเนินการฟ้องกลุ่ม ร่วมกับบลจ.ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนSTARK ส่วนจะมีการยื่นฟ้องได้เมื่อไรนั้น ยังต้องมีการหารือกันเพิ่มเติมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามกรณีSTARK นั้น ไม่ได้ทำให้บลจ.บัวหลวง"ปิดประตู"ลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะ เรายึดหลักมืออาชีพในการบริการจัดการลงทุน ผู้จัดารกองทุนมีทักษะการเลือกหุ้น ซึ่งหุ้นเล็กบางตัวเป็นหุ้นโกรสสต็อก
"กรณี STARK ทำให้การเฟ้นหาหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก ก็เริ่มมีความกลัว หรือแหยงนิดนึง ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลว่าเปิดเผยข้อมูลเพียงพอหรือไม่ เพราะคนจะเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ว่ามีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสมากกว่า แต่ด้วยวิชาชีพ เราอยากชนะ เหมือนกัน เราก็เหมือนเป็นหมอเงิน ซึ่งผู้จัดการกองทุนทั้งอุตสาหกรรมเลือกลงทุนหุ้นแล้ว ไม่อยากที่จะขาดทุน อยากที่จะทำกำไรให้กับผู้ลงทุนอยู่แล้ว"
พีรพงศ์ กล่าวว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM)ของบลจ.บัวหลวง ณ สิ้นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 8.45 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้ AUMจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านล้านบาท เพราะ ด้วยสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกที่มีความไม่แน่นอนทำให้การลงทุนปีนี้ผลตอบแทนต่ำกว่าเป้าหมาย เช่นกองทนจีน ไม่ได้ตามแผน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยขณะนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ต้องชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมืองก่อน
สำหรับแผนการดำเนินงานของบลจ.บัวหลวงในช่วง 3 ปีจากนี้ เน้นลงทุนที่เรียกว่า 2P คือ บุคลากร (People) และแพลตฟอร์ม (Platform) เนื่องจากพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนเปลี่ยนไป การเข้าถึงออนไลน์ และการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยในส่วนของบุคลากรบริษัทจะมีการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการคำแนะนำการลงทุน การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนมีผลตอบแทนการลงทุนที่สม่ำเสมอและยั่งยืน
ส่วนด้านแพลตฟอร์มนั้นขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกพันธมิตรเพื่อพัฒนา"ดิจิทัลเวลธ์แพลตฟอร์ม" จาก ปัจจุบันที่เรามีแอปในการซื้อขายกองทุนอยู่แล้ว คือ บัวหลวงฟันด์เทรดดิ้ง(แอปBFT) และจะมีการพัฒนาฟีเจอร์ที่มี AI เข้ามาช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับผู้พัฒนา AI ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้เร็วนี้
นอจากนี้ บลจ.บัวหลวง อยู่ระหว่างพิจารณาผู้พัฒนาAI ระดับโกลบอลว่าจะนำระบบดังกล่าวมาใช้กับหุ้นไทยได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ due diligence