GLORY ไตรมาส 2/66 พลิก ‘ขาดทุน’ 24.80 ล้านบาท เจอพิษหุ้นกู้ STARK
GLORY เผยไตรมาส 2 ปี 66 พลิก “ขาดทุน” 24.80 ล้านบาท เหตุบันทึกพิษขาดทุนทางบัญชีลงทุนหุ้นกู้ “STARK” มูลค่า 16 ล้านบาท
นายจรัญพัฒณ์ บุญยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 24.80 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.04 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการ 20,976 ล้านบาท ลดลง 5.60% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน 22,221 ล้านบาท
ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีขาดทุนสุทธิ 24.67 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.57 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหารของกลุ่มบริษัทสำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 มีจำนวน 31.90 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจำนวน 18.90 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ 70% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรก ปี2565 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก
การรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีของ “หุ้นกู้ Stark” ที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไว้จำนวน 16 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มบริษัทมีกระแสเงินสดคงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก จึงดำเนินการบริหารสินทรัพย์โดยหมุนเวียนเงินสดไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนและหุ้นกู้ ที่มีความเสี่ยงต่ำ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติและในช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มบริษัทมีการบริหารการลงทุนในหลายสินทรัพย์ด้วยกัน ซึ่ง หุ้นกู้ Stark เป็นตัวเลือกหนึ่งในการจัดการบริหารสินทรัพย์ ในช่วงเวลาดังกล่าว และในขณะที่ทำการลงทุน หุ้นกู้ Stark จัดเป็นสินทรัพย์ที่มีผลการประเมิน Company Rating อยู่ที่ BBB+ ซึ่งเป็น Investment Grade และประกอบกับคำแนะนำการลงทุนจากที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่ดูแลด้านการลงทุนบริหารสินทรัพย์ให้กับกลุ่มบริษัทกลุ่มบริษัทจึงตัดสินใจลงทุนในหุ้นดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับหุ้นกู้ Stark ขึ้น กลุ่มบริษัทได้ดำเนินการทยอยขายหุ้นกู้ตัวอื่นๆออก ตามมติของกลุ่มบริษัท เนื่องจากเจตนาหลักของกลุ่มบริษัทในการลงทุนในกองทุนและหุ้นกู้ ที่มีความเสี่ยงต่ำไม่ได้ต้องการผลกำไรจากการลงทุนส่วนนี้เป็นหลัก แต่เป็นการบริหารจัดการสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติและกลุ่มบริษัทยังคงนโยบายการลงทุนกับการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทเป็นนโยบายหลัก
นอกจากนี้ มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายอาทิเช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทย่อย และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจากจำนวนลิขสิทธิ์ ที่กลุ่มบริษัทถือครองมากขึ้น