หุ้นยุโรป ปิดบวก ขานรับอีซีบี ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวกในวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) โดยปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในรอบ 6 เดือน หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินใกล้สิ้นสุดแล้ว ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แข็งแกร่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงาน
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวกในวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.)
- ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 460.86 จุด เพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ +1.52%
- ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,308.67 จุด เพิ่มขึ้น 86.10 จุด หรือ +1.19%,
- ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,805.29 จุด เพิ่มขึ้น 151.26 จุด หรือ +0.97%
- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,673.08 จุด เพิ่มขึ้น 147.09 จุด หรือ +1.95%
อีซีบีมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) ตามการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกัน
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากดีดตัวสู่ระดับ 4.00% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.75% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.50%
ทั้งนี้ อีซีบีเริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยล่าสุดอีซีบีคาดการณ์เงินเฟ้อในยูโรโซนแตะระดับ 5.6% ในปีนี้ และ 3.2% ในปีหน้า และ 2.1% ในปี 2568 โดยสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของอีซีบีที่ระดับ 2%
ธนาคารกลางเดนมาร์ก ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในวันพฤหัสบดีด้วยเช่นกัน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนปรับตัวลง หลังอีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4% แต่เศรษฐกิจยูโรโซนอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งบ่งชี้ว่า อาจจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย
หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น 3.0% ขณะที่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่พุ่งขึ้น 4.2% ตามราคาโลหะที่ปรับตัวขึ้น
หุ้นกลุ่มพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดของปีนี้
แต่หุ้นลบสวนทางตลาดได้แก่หุ้นกลุ่มรถยนต์ซึ่งลดลง 0.4% โดยหุ้นรถยนต์ของเยอรมนีเผชิญแรงกดดัน อาทิ เมอร์เซเดส เบนซ์, บีเอ็มดับบลิว และโฟล์คสวาเกน หลังจีนเปิดเผยว่า การที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ออกมาตรการตรวจสอบการให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนนั้นถือเป็นการสกัดกั้นทางการค้า และเตือนว่าอาจจะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ