จับตา 'ภาษีลงทุนนอก' กูรูตลาดทุนหวั่นกระทบ 'รายย่อย' ร้องทบทวน
ตลท.ชี้เก็บภาษีเงินลงทุนต่างประเทศเป็นผลดีต่อประเทศ มองหากเก็บจากรายได้กระทบนักลงทุนหนักกว่าคิดจากกำไร ด้าน"อดีตประธานเฟทโก้" ย้ำต้องแฟร์กับนักลงทุน แนะคิดกำไรจากพอร์ตลงทุนทั้งปี หากขาดทุนไม่เก็บภาษี ด้าน“จิตตะ” ขอสรรพากรทบทวน หวั่นกระทบรายย่อย
กรณีกรมสรรพากร ออกประกาศให้บุคคลที่อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศเริ่ม1 ม.ค.2567
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นภาษีที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกปรับใช้กันไปแล้ว หากภาครัฐไทยไม่ปรับใช้ก็อาจจะเสียเปรียบได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่มองว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นผลดีต่อประเทศแน่นอน
ดังนั้นจึงมองว่า ไม่น่าจะย้อนแย้งกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พยายามผลักดันให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพราะการออกไปลงทุนต่างประเทศ และมีการนำเงินกลับมาเป็นสิ่งทั่วโลกยอมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกันหมด
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามความชัดเจน คือ ภาครัฐจะตีความการจัดเก็บภาษีจะคิดต้นทุนจากอะไร รายได้หรือกำไร โดยหากคิดจากรายได้อาจส่งผลกระทบนักลงทุนมากกว่าการคิดจากกำไร
นายภากร กล่าวว่า เรื่องการเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบเชิงลบเฉพาะนักลงทุนในประเทศที่มีการลงทุนต่างประเทศ และต้องการนำเงินกลับมาในประเทศ เท่านั้น เพราะต้นทุนของการลงทุนต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศที่ยังคงเท่าเดิม
ส่วนกรณีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อาจกระทบน้อยกว่านักลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เพราะเงินที่ลงทุนของบจ.ส่วนใหญ่ที่ไปลงทุนต่างประเทศ จะใช้ขยายการลงทุนต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ได้นำกลับมา
อย่างไรก็ดี หากภาครัฐอยากสนับสนุนการลงทุนในประเทศ มองว่าเป็นโอกาสอย่างมากที่ภาครัฐจะตีความให้นักลงทุนไทยใช้วิธี หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนในไทยมากกว่าออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศ เช่น การลงทุน DR และ ETF ในไทย ก็จะประหยัดต้นทุนได้ราว10% ซึ่งก็จะทำให้การลงทุนดังกล่าวเติบโตทันที
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร อดีตประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า ยังต้องรอรายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากทางกรมสรรพากร ซึ่งประเด็นเรื่องภาษี มองว่าหากทำให้ไม่เป็นอุปสรรค แต่ยังคงมีความสะดวกสบาย ไม่ยุ่งยาก รวมถึงทำให้เกิดภาระที่เป็นต้นทุนน้อยที่สุดกับการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องจัดเก็บเอกสาร
ทั้งนี้เชื่อว่านักลงทุนก็ยังสนใจการลงทุนในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันวงเงินลงทุนต่างประเทศที่ธปท.ให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมีจำนวนค่อนข้างมาก พบว่าปัจจุบันคนยังใช้วงเงินดังกล่าวไม่มากนัก อีกทั้งเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนรวมต่างประเทศ ได้รับการยกเว้นภาษีอนยู่แล้ว ซึ่งไม่กระทบ และเม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้ ยังมากกว่าพอสมควร เมื่อเทียบกับ ลงทุนในต่างประเทศ ผ่านโบรกเกอร์และนักลงทุนออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีส่วนใหญ่ เข้าใจว่า เก็บจากกำไร ซึ่งในแง่ของการลงทุน จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพิจารณาดูการลงทุนทั้งหมดในแต่ละปี ถ้าหากมีกำไรคงจะเก็บ แต่ถ้าขาดทุนไม่เก็บภาษี เพราะไม่ใช่นั้นหากคิดจากกำไรอย่างเดียว ในพอร์ตลงทุนมีหุ้นหลายตัว มีกำไรแค่1ตัวที่เหลือขาดทุนทั้งหมดก็จะไม่แฟร์กับนักลงทุน คงต้องรอหารือกับทางกรมสรรพากรก่อน
ทั้งนี้การจัดภาษีดังกล่าว แน่นอนว่าการลงทุนต่างประเทศจะมีความยุ่งยากขึ้นกว่ารูปแบบเดิม มองว่า มีโอกาสทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้หันมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่าง กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) , ผลิตภัณฑ์ตราสารการลงทุน DRและ DRxของตลาดหลักทรัพย์ฯและกองทุน ETFในประเทศ และการลงทุนในตลาดหุ้นไทย น่าจะได้รับความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และผู้ก่อตั้ง จิตตะ กล่าวว่า ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาประกาศนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่มีการลงทุนต่างประเทศอยู่ในขณะนี้ เพราะมีรายย่อยจำนวนมากที่ลงทุนในต่างประเทศ
นอกจากนี้แนวทางปฏิบัติในการคิดภาษีในส่วนของการลงทุนในหุ้นยังต้องมีความชัดเจนอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะแตกต่างจากการมีรายได้อื่นๆ เช่น จากการทำงาน หรือ การมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพราะหุ้นเป็นทรัพย์สินเสี่ยง มีโอกาสขาดทุนหรือมีกำไรก็ได้ รวมทั้งมีจำนวนการทำธุรกรรมการซื้อขายที่เยอะกว่า ทำให้การคิดภาษีมีความซับซ้อนสูง สร้างความสับสนในการปฏิบัติต่อนักลงทุน
ดังนั้น ถ้าหากจะต้องเสียภาษีในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราลงทุนต่างประเทศ ปีแรกมีกำไรแล้วนำเงินเข้ามา เสียภาษีไปแล้ว อีกปีนำเงินไปลงทุนต่อ แต่กลับขาดทุนหนัก แต่ขอภาษีตอนกำไรคืนก็ไม่ได้ แบบนี้ก็ยิ่งทำให้ในระยะยาวแล้ว นักลงทุนจะยิ่งขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครอยากจะไปลงทุนในต่างประเทศอีกเลย
นอกจากนี้กรณีมีการนำเงินไปลงทุนในพอร์ตการลงทุน 2 พอร์ต ที่จีนและที่สหรัฐ ถ้าพอร์ตที่สหรัฐกำไร แต่พอร์ตที่จีนขาดทุน แล้วนำเงินกลับมา เมื่อทำการคิดภาษีเฉพาะพอร์ตที่กำไร ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับนักลงทุน