EP ลุยขายไฟเวียดนาม หนุนรายได้โตเกิน 50% คุยพันธมิตรยุโรปผุด 'กรีนไฮโดรเจน'
EP ลุยขายไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม 160 เมกะวัตต์ ไตรมาส 4 ปี 66 หนุนรายได้ปีนี้เติบโตเกิน 50% แย้มกำลังเจรจาพันธมิตรยุโรป ศึกษาธุรกิจ “กรีนไฮโดรเจน” ในไทย พร้อมออกหุ้นกู้ 2 ชุด วงเงินรวมไม่เกิน 1,270 ล้านบาท ชูดอกเบี้ย 6.25-6.70% จอง 22-26 ก.ย.นี้
เมื่อ “เวียดนาม” มีกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศไม่เพียงพอ ! จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า “พลังงานทดแทน” และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP ที่ลงทุน “โครงการพลังงานลม” (Wind Energy) กำลังผลิต 160 เมกะวัตต์ (MW) โดยแบ่งเป็นโครงการ Gia Lai รวม 100 เมกะวัตต์ และโครงการ Quang Tri รวม 60 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวม 7,040.92 ล้านบาท
“ยุทธ ชินสุภัคกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบระบบจ่ายไฟฟ้า และ ระบบเดินเครื่องตัวกังหันลม Wind turbine ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ณ ประเทศเวียดนาม ซึ่งได้ดำเนินการเชื่อมสายส่งของโครงการ HL3,4 รวมกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ เข้ากับสถานีไฟฟ้าย่อย Lao Bao คิดเป็นรายได้จำนวน 478.80 ล้านบาทต่อปี
และของ “โครงการ Gia Lai” รวมกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ เข้ากับสถานีไฟฟ้าย่อย Dien Hong / Chu Se ของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นรายได้ประมาณ 792 ล้านบาต่อปี ซึ่งรวมทั้งสองโครงการ กำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ โดยคาดตั้งแต่ปลายเดือนก.ย. 2566 เป็นต้นไป บริษัทจะทยอยเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) และรับรู้รายได้ในทันทีและต่อเนื่องจนถึงปี 2586
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทางรัฐบาลเวียดนามเจรจาราคาค่าไฟฟ้าและการเสนอราคาชั่วคราว โดยเสนอให้นักลงทุนรับค่าไฟฟ้าจากทาง EVN ในอัตรา 50% ของราคาสูงสุดที่ได้มีการประกาศไว้ (6.9 US cent) และเมื่อได้ผลสรุปราคา FIT ทาง EVN ก็จะจ่ายคืนส่วนต่างทั้งหมดให้ คาดว่าจะเป็นในช่วงปลายปี 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำหรับแผนธุรกิจปี 2566 บริษัทมุ่งเน้นการ “ขยายพอร์ตลงทุนพลังงานทดแทน” ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบมีสัดส่วนรายได้พลังงานทดแทนในต่างประเทศ สัดส่วน 83.14% พลังงานทดแทนในประเทศ สัดส่วน 16.86% ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตในต่างประเทศ จำนน 160 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทยอย COD ช่วงเดือนก.ย.-พ.ย. 2566
ส่วนโรงไฟฟ้าในประเทศกำลังผลิตรวม 32.45 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD แล้ว กำลังผลิต 18.09 เมกะวัตต์ และรอ COD เดือนก.ย.66 อีกจำนวน 14.36 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีแผนขยายการลงทุนพลังงานไฟฟ้าในประเทศ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ “โซลาร์ รูฟท็อป” และ “พลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์” (Solar farm) โดยเป็นกลุ่มลูกค้าเอกชน ที่มีพื้นที่บนหลังคา เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งบริษัทจะผู้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ โดยใช้พื้นที่บนหลังคาของลูกค้า ซึ่งมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งปัจจุบันการขายไฟฟ้าให้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปีก่อนเติบโตระดับ 10%
โดยแผนธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นการยืนยันว่า “ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง” ของบริษัท รวมทั้งการที่บริษัทสามารถชำระคืนเงินหุ้นกู้ “รุ่น EP239A” ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมาแล้ว
รวมทั้งหุ้นกู้ทุกรุ่นที่ออกโดยบริษัทในช่วงที่ผ่านมา บริษัทสามารถจ่ายดอกเบี้ย และไถ่ถอนได้ตามกำหนด ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ศักยภาพการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงิน” ของบริษัทได้เป็นอย่างดี !
อย่างไรก็ตาม ด้วยการ “ขยายการลงทุน” ต่อเนื่อง เพื่อสร้าง “การเติบโต” และการ “บริหารสภาพคล่อง” ของธุรกิจ บริษัทจึงมีการออกหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2564 จำนวน 2 รุ่นใหม่ วงเงินรวมไม่เกิน 1,270 ล้านบาท ประกอบด้วย “หุ้นกู้ชุดที่ 1” อายุ 1 ปี 3 เดือน โดยมีอัตรา “ผลตอบแทน” ระดับ 6.25%
และ “หุ้นกู้ชุดที่ 2” อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราผลตอบแทน 6.7% ด้วยการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่
“จำนวนของหุ้นกู้ชุดที่ 1 และหุ้นกู้ชุดที่ 2 ที่บริษัทเสนอขาย คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 770 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรอง (Greenshoe) เพื่อเสนอขายเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขายคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,270 ล้านบาท โดยจะเปิดจองได้ระหว่างวันที่ 22-26 ก.ย. นี้”
สำหรับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ ! บริษัทเตรียมนำเงินไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน และเพื่อใช้ทดแทนกระแสเงินสด หรือคืนเงินกู้ยืมที่ใช้จ่ายคืนหุ้นกู้ของบริษัทรวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท
ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดดังกล่าว บริษัทจะเสนอขายผ่าน บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของไทย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท หลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด, บริษัท หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท หลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
“เรามีความมุ่งมั่นจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนี้ไปใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ พร้อมทั้งสามารถนำไปขยายการลงทุน เพื่อผลักดันผลประกอบการให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว”
นอกจากนี้ บริษัทมีความสนใจลงทุนในพลังงานรูปแบบอื่น ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนใน “พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว” (Green Hydrogen) กับ "พันธมิตรยุโรป" ซึ่งบริษัทคาดจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงงานผลิตไฮโดรเจนที่พันธมิตรยุโรปจะเป็นผู้ลงทุนในโรงงานดังกล่าว และบริษัทอาจจะเข้าไปถือหุ้นร่วมด้วย โดยคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อสะดวกในการขนส่งไปท่าเรือ
“เราเจอกับพันธมิตรยุโรปดังกล่าวที่เวียดนาม ซึ่งเดิมเขามีแผนจะลงทุนพลังงานไฮโดรเจนที่เวียดนาม แต่เรากำลังชักชวนให้พันธมิตรยุโรปมาลงทุนในไทย และเรามีการนำเสนอข้อดีและจุดเด่นของไทยหากพันธมิตรสนใจที่จะมาลงทุน”
ขณะที่ “ธุรกิจบรรจุภัณฑ์” ปัจจุบันมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการเติบโตของยอดขายในระดับ 80% หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว
สำหรับ ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทมีผลกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 165.42 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งมีผลกำไร 114.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.94 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.50% ส่วนผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีผลกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 52.33 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีผลกำไร 31.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.62 ล้านบาท คิดเป็น 65.04%
ขณะที่ มีรายได้รวม 238.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.50 ล้านบาท คิดเป็น 47.60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 161.93 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าอยู่ที่ 121.79 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 106.59 ล้านบาท คิดเป็น 700.95% จากโครงการ Solar Rooftop
สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2566 มีรายได้รวม 488.44 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 74.03 ล้านบาท คิดเป็น 17.86% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ลดลง 50.14 ล้านบาท คิดเป็น 13.26% เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่เลื่อนการส่งงานหนังสือ ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 124.17 ล้านบาท คิดเป็น 343.60% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการติดตั้ง Solar rooftop
ท้ายสุด “ยุทธ” บอกไว้ว่า หากพอร์ตธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีกำลังการผลิตเข้าทั้งไทย และเวียดนาม จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจไฟฟ้าขึ้นมาเป็นพอร์ตใหญ่ของบริษัท