'หุ้นอินโดนีเซีย’ โอกาสลงทุน เสริมพอร์ตช่วงศก.ถดถอย
เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปีนี้ ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย" ในสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจภายในของประเทศจีน ตัวเลขเงินเฟ้อระลอกใหม่ รวมถึงดอกเบี้ยโดยรวมของโลกยังอยู่ระดับสูง ทำให้ "ผลตอบแทน" จากการลงทุนมีความไม่แน่นอนสูง
ทางกลับกัน ยังมีประเทศที่มีอัตราเติบโตเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าไทย และโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกถดถอย อย่าง “อินโดนีเซีย” ขณะนี้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เริ่มอยู่ในเรดาห์ของนักลงทุนในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งมองหาโอกาสลงทุนปรับพอร์ตเพิ่มผลตอบแทน
“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) พบว่า ในแง่ Valuation ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ยังอยู่ในระดับกลาง ไม่ถูกหรือไม่แพงจนเกินไปมีโอกาสเติบโต ส่วนใหญ่จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่โดดเด่น คือ "นิกเกิล"
ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังมีโอกาสโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ได้ ทำให้ตลาดมองเป็นหนึ่งในตัวแทนตลาดหุ้นจีนในภาวะเศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยง "ชะลอตัว"
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (JCI) นับตั้งแต่ต้นปีปรับตัวขึ้น 4.9% ย้อนหลัง 3 ปี บวก 53.2% และ 5 ปี 34.5% ปรับตัวขึ้นโดดเด่นเมื่อเทียบภูมิภาค เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่ด้าน Valuation ปัจจุบัน Forward PE ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (JCI) อยู่ที่ระดับ 14.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง รวมทั้งเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก มูลค่า PE ถืออยู่ในระดับที่น่าสนใจ และมีอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยในปี 2566-2567
“พสุวุฒิ วิไลนิรันดร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกองทุนส่วนบุคคล บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า อินโดนีเซียมีความน่าสนใจ ด้วยประชากรกว่า 270 ล้านคน เป็นอันดับ 4 ของโลก รอง จีน อินเดีย และสหรัฐ และ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ยังคงเติบโตด้วยอัตรา 5% ต่อปี (ปีนี้โต 5-5.5% ปีหน้าโตระดับเดิม 5-5.5%)
อีกทั้ง ยังได้รับเม็ดเงินจากบริษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานผลิตเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเม็ดเงินลงทุนทางตรงในปีที่แล้วของอินโดนีเซียนั้นสูงคิดเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับไทยตามลำดับ
ขณะเดียวกันประชากรทั้งอินโดนีเซียยังเป็นวัยทำงานมากถึง 50-60% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และกลุ่มคนวัยดังกล่าวกำลังย้ายจากภาคการเกษตรเข้ามาภาคอุตสาหกรรม และอยู่อาศัยในตัวเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้รายได้ต่อหัวปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในอีก 5-10 ปี
โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของประชากรคนชั้นกลาง ได้แก่ กลุ่มสิ่งของอุปโภคและบริโภคต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าจาก ผ่านร้านค้าทั่วไป (Traditional Trade) เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยของประชาชนทั่วไปซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำและสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต
สะท้อนการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล Alpha Fund by Innovest X มีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ปัจจุบัน 12,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนตลาดหุ้นไทย 3,500 ล้านบาท ,หุ้นเวียดนาม 6,500 ล้านบาท และหุ้นอินโดนีเซีย 2,000 ล้านบาท อนาคตจะมีเม็ดเงินลงทุนตลาดหุ้นอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น
ส่วนพอร์ตลงทุนกองทุนส่วนบุคคล Alpha Fund by InnovestX มีสัดส่วนการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม 55-60% หุ้นไทย 25% และหุ้นอินโดนีเซีย 15% มองในระยะข้างหน้าสัดส่วนลงทุนในหุ้นอินโดนีเซียจะมีสัดส่วนมากกว่าหุ้นไทย
ด้านผลตอบแทนกองทุนส่วนบุคคล Alpha Fund by InnovestX ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ลงทุนหุ้นเวียดนามที่ 23% รองลงมาเป็นหุ้นอินโดนีเซีน15% หุ้นไทยติดลบ 1-2%
"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจแต่ที่ผ่านมานักลงทุนอาจจะมองข้ามและยังมีความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียรายได้ของประชากรระหว่างการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในระยะยาว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียได้ริเริ่มมาตรการต่าง ๆ เช่น โครงการบัตรก่อนเข้าทำงาน ซึ่งมอบทักษะทางเทคนิคและวิชาชีพผ่านการเรียนรู้ดิจิทัล การฝึกอบรมเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ และทุนการศึกษา เพื่อลดรอยแผลที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน โดยเน้นส่วนการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 4.7-5.0% ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังเป็นอัตราการเติบโตที่ยังอยู่ในระดับที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้แรงหนุนส่วนใหญ่จากอุปสงค์ในประเทศ อินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะบรรลุสถานะประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี พ.ศ. 2588 ซึ่งจะต้องมีการจัดการกับการเติบโตของภาคการผลิตที่ลดลงเนื่องจากจำนวนแรงงานที่ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาเช่นเดียวกันกับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ทั้งนี้หุ้นในตลาดอินโดนีเซียยังมีศักยภาพในการเติบโต โดยจากการตรวจสอบข้อมูลหุ้นของอินโดนีเซียจากเว็บ Jitta.com ของปี 2022 พบว่าหุ้นในกลุ่มแบงก์ ยานยนต์และภาคผลิตมีการเติบโตได้ดี โดยบริษัทที่ติด 5 อันดับแรก (Ranking) ได้แก่ PT Bank Mega Tbk, PT Astra Otoparts Tbk, PT Akasha Wira International Tbk, PT Bank Mandiri (Persero) Tbk, PT Bank CIMB Niaga Tbk