SCB CIO คาดเฟดลดดบ. ไตรมาส 3 ปี 67 แนะเลี่ยงลงทุนหุ้นกู้-หุ้นกลุ่มธุรกิจหนี้
SCB CIO มองเฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง อาจปรับลดลงไตรมาส 3/2567 ส่งผลกดดันกลุ่มประเทศหรือธุรกิจที่มีหนี้สูง อาจมีปัญหาสภาพคล่องหรือถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 67 โต 1.5% ชะลอลงจากปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1% แนะเลี่ยงลงทุนในหุ้นกู้
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และปรับลดลงช้า โดยอาจจะต้องรอจนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่น่าจะเป็นแบบจัดการได้ (Soft Landing) โดยล่าสุด Fedคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะเติบโต 1.5% ชะลอลงจากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1% ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รวมถึงเศรษฐกิจในอาเซียน และไทย ที่พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศ ในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ค่อนข้างมาก ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปแม้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็มาจากฐานต่ำ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูงและลดลงช้า ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีแนวโน้มลดลงได้เร็วมากกว่า ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (Rate differentials) มีแนวโน้มดำเนินต่อไป และเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงิน Emerging markets อาจอ่อนค่า โดยเฉพาะประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดฟื้นตัวช้า และยังมีแนวโน้มขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น เช่น ไทย โดย SCB CIO เชื่อว่า ค่าเงินบาทจะยังมีแรงกดดันอ่อนค่าในช่วงที่ยังมีความกังวลเรื่องการขาดดุลการคลังในระยะข้างหน้า แต่ค่าเงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (high season) โดยเราปรับมุมมองค่าเงินบาทเป็น 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2566
โดยยังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูง ซึ่งอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงอาจถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ลดอันดับลงได้ โดยประเทศส่วนใหญ่ยังมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสูงและลดลงช้า เป็นผลจากการออกมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 ขณะที่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 64% และไทย 91% ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว
โดยเฉพาะไทย ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน สำหรับหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 132% และ เวียดนาม 128% โดยหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเร็วและอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจของไทย อยู่ที่ 80% เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19
นอกจากนี้ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ที่ยังมีแนวโน้มสูงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า เรายังคงแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ สรอ.- บาท ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนจากการลดดอกเบี้ยช้าของ Fed เราเชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงมีความผันผวนสูง ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทย ยังมีแนวโน้มอยู่ในลักษณะกว้างต่อไป
ในส่วนของการลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้ ยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของ Fed ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูง ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก จึงแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับมุมมองการลงทุนบนหุ้นจีน A-share เป็น Neutral โดยเรามองว่า ถึงแม้ดัชนีหุ้น A-share จะมีมูลค่า (Valuation) ค่อนข้างถูก (forward P/E อยู่ที่ 10.9x, -1 s.d. เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 5 ปี) และมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการฝั่งการเงิน การคลัง ภาคอสังหาฯ และค่าเงินหยวน
แต่ดัชนีมีแนวโน้มเคลื่อนไหวกรอบจำกัด ในระยะ 3-6 เดือนค่อนข้างจำกัด จาก sentiment ของนักลงทุนจีนที่ยังซบเซา และแรงขายสุทธิหุ้นจีนของต่างชาติ ประกอบกับความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ ทั้งกับสหรัฐฯ และยุโรป โดยเราประเมินว่าหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ฟื้นตัวได้ในกรอบจำกัด จนกว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้ ยังปรับมุมมอง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในตลาดเกิดใหม่ หรือ EM REITs เป็น Neutral เช่นกัน โดยแนะนำให้เลือกลงทุนรายตัว เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่ม REITs เอเชีย หรือ Asian REITs เผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ REITs ไทยยังเผชิญแรงขายจากกองทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับน่าสนใจทั้งในแง่ของ ราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี (PBV), อัตราการจ่ายเงินปันผล และส่วนต่างของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ด้าน REITs ของ สิงคโปร์ พบว่า Yield Spread อยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจ
SCB CIO แนะนำให้รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ โดย หุ้น Big-Tech ขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด มากที่สุด 7 ตัวแรกในดัชนี S&P 500 และเป็นตัวชี้นำผลตอบแทนการลงทุนในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่หุ้นที่เหลือของดัชนีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 5% เท่านั้น เราจึงมองว่า Valuation ของหุ้น Big-Tech 7 ตัว ได้สะท้อนกำไรที่ดีกว่าคาดไปพอสมควรแล้ว และมีโอกาสที่จะปรับฐานเข้าสู่ค่าเฉลี่ยของตลาด
โดยล่าสุด Trailing P/E และ Forward P/E ของ Big Tech 7 ตัว อยู่ที่ 60.1x และ 36.1x ขณะที Trailing P/E และ Forward P/E ของ S&P500 อยู่ที่ 24.7x และ 19.5x ตามลำดับ โดยเราประเมินว่าแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ Valuation ค่อนข้างตึงตัว จึงแนะนำให้รอ Valuation ถูกลงมากกว่านี้ค่อยเข้าทยอยสะสม