เปิดโผ 5 หุ้นร้านสะดวกซื้อ จ่อระส่ำ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ ขอแชร์ตลาด

เปิดโผ 5 หุ้นร้านสะดวกซื้อ จ่อระส่ำ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ ขอแชร์ตลาด

เปิดโผ 5 หุ้นร้านสะดวกซื้อ จ่อระส่ำ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ ขอแชร์ตลาด "นักวิเคราะห์" เผย 7-ELEVEN กับร้านโดนใจ คนละกลุ่มเป้าหมาย 7-ELEVEN ยังเป็นเบอร์ 1 ของกลุ่มค้าปลีก

ฮือฮาสนั่นวงการค้าปลีก! เมื่อปรากฎข่าวใหญ่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เตรียมแต่งตัว "ร้านโดนใจ" ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเครือของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)  ลงสนามสู้ศึกร้านสะดวกซื้ออย่างเต็มตัว ซึ่งร้านสะดวกซื้อ เป็นร้านค้าปลีกที่ส่วนใหญ่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี โดยเฉพาะ 7-ELEVEN ถือว่าเป็นเจ้าใหญ่เบอร์ 1 ของวงการค้าปลีก ที่มีสาขานับหมื่นสาขา

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ธุรกิจร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ ที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีแผนเปิด ซึ่งถือว่า เป็นโมเดลที่เคยประกาศมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ใช่เชิงรุกมาก ถือว่าเป็นแผนที่หลาย ๆ บริษัทอยากทำ อย่าง CBG หรือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก็โดนเข้ามาเล่นธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มเซนทรัลได้มีการพยายามปั้น แฟมิลี่มาร์ท เพื่อมาแข่งกับเซเว่น-อีเลฟเว่น เช่นกัน

ทั้งนี้หากมองในแง่ของภาคการแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เป็นภาพลบกับธุรกิจค้าปลีกเนื่องจากมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามว่า คู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาจะสามารถตีคู่แข่งรายเก่าได้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากศักยภาพในการแข่งขันการควบคุมต้นทุน CPALL ยังคงได้เปรียบคู่แข่งอยู่  อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า สิ่งที่กลุ่มทุนเจ้าสัวเจริญจะเข้ามารุกมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ หากดู เซเว่น-อีเลฟเว่น ตามหัวเมืองใหญ่ค่อนข้างแย่งชิงพื้นที่ทำเลดี ๆ ไปก่อนหน้านี้แล้ว การที่คู่แข่งจะเข้ามาจับจองพื้นที่ค่อนข้างทำได้ลำบาก ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญของธุรกิจนี้อยู่ที่เน็ตเวิร์ค ใครมีเน็ตเวิร์คที่ใหญ่กว่า ค่อนข้างจะได้เปรียบ ซึ่งเซเว่น-อีเลฟเว่น ค่อนข้างจะได้เปรียบเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แต่คิดว่า ยังคงต้องใช้เวลาในการที่จะสร้างผลกระทบกับของ CPALL อย่างมีนัยสำคัญ 

“ต้องยอมรับว่า การแข่งขันธุรกิจกิจดังกล่าวค่อนข้างสูง เนื่องจากก่อนหน้านั้นหุ้น CPALL ก็มีบางช่วงที่ Underperform แต่ในอีกด้านหนึ่งหากยังมีคนที่เข้ามาสนใจลงทุนอยู่ แสดงว่า ยังมีกำไรส่วนเกินให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามา จึงสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจดังกล่าวยังคงไม่ได้มีการอิ่มตัว”

ทั้งนี้ ส่วนตัวยังเชื่อพลังเครือข่าย ใครที่มีเครือข่ายธุรกิจนี้จะมีความได้เปรียบค่อนข้างเยอะ เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น มีหลายหมื่นสาขา เวลาสั่งของแต่ละครั้งจะได้ราคาที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับคนที่หลักร้อย หลักพันสาขา จึงมองว่า ผู้ที่เข้ามาเล่นในธุรกิจนี้อาจจะต้องใช้เวลา หากจะเข้ามาแข่งขันกับ เซเว่น-อีเลฟเว่น ต้องมีมากพอ 

วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด FSS บริษัทในเครือ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่เจ้าสัวเจริญกระโดดเข้ามาลงทุนซูเปอร์มาร์เก็ตขายส่งนั้น มองว่า อาจจะไม่ใช่ธุรกิจเดียวกันกับของ เซเว่น-อีเลฟเว่น สักทีเดียว แต่เป็นในรูปแบบของร้านโชห่วยเป็นคนละแนวกับเซเว่น-อีเลฟเว่น เนื่องเซเว่น-อีเลฟเว่นมีการเปิดสาขาในส่วนของอำเภอ แต่ถ้าเป็นระดับโชห่วยต้องแยกย่อยลงไปกว่านั้นเช่น ตำบลหรือชุมชน ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมโครงการ โดยการซื้อของจากบิ๊กซี เพื่อมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง อาจจะไม่ได้มีการเปิดไล่สาขาเป็นหลักหมื่นเหมือนเซเว่น-อีเลฟเว่น 

ทั้งนี้ ในระยะสั้นยังคงต้องติดตามดูว่า จะออกมาในรูปแบบใด และรูปแบบนั้นออกมาได้แบบที่คาดหวังไว้หรือไม่ 

สำหรับร้านค้าขนาดเล็กเดิมทีเป็นรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นมาในสหรัฐ แต่ต่อมาได้พัฒนาขึ้นในญี่ปุ่น จนขยายตัวไปทั่วโลก ซึ่งในไทยมีอยู่ด้วยกันหลายเจ้า แต่ที่ดำเนินการโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจพบว่า

5 หุ้นร้านสะดวกซื้อ มีด้วยกันดังนี้ 

เปิดโผ 5 หุ้นร้านสะดวกซื้อ จ่อระส่ำ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ ขอแชร์ตลาด

1.ร้านโดนใจ (บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC)

หลังจากที่เจ้าสัว "เจริญ สิริวัฒนภักดี" แห่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย มีแผนจะบุกร้านของชำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็น "ร้านโดนใจ" ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเครือของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ภายในปี 2570

สำหรับกลยุทธ์ของ "โดนใจ" ในการบุกตลาดร้านสะดวกซื้อนั้น เน้นไปที่การแปลงโฉมร้านโชห่วยที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งด้านสินค้า บริการ และการตกแต่งร้าน ด้านสินค้า โดนใจ จะเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงสินค้าท้องถิ่นและสินค้าตามฤดูกาล เพื่อให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในชุมชน

ส่วนบริการ โดนใจ จะเน้นบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น บริการฝากเงิน ถอนเงิน เติมเงินมือถือ ชำระเงินค่าบริการต่างๆ และบริการจัดส่งสินค้า

สำหรับผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/66 มีกำไร 1,209.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 1,203.09 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมในไตรมาส 2/66 เท่ากับ 42,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% โดยเพิ่มขึ้นจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,299 ล้านบาท หรือ 3.4% จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และค้าปลีกสมัยใหม่ ในขณะที่รายได้อื่นรวมอยู่ที่ 3,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122 ล้านบาท หรือ 3.8% เนื่องจากรายได้อื่นของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าเช่า 

สำหรับหุ้น BJC ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 121,235.85 ล้านบาท  P/E 24.13 เท่า ราคาปิด ณ วันที่ 6 ต.ค.66 ที่ 30.75 บาท 



2.ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven (บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL) 

ปัจจุบันมี 14,215 สาขา และเตรียมเปิดใหม่อีก 114 สาขา ทั่วประเทศประเทศไทย ล่าสุดกลุ่มซีพี ออลล์ ได้เปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีกที่ สปป.ลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นสาขาแรก

ในไตรมาส 2 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 102,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% YOY และเพิ่มขึ้น 8.3% QOQ โดยสัดส่วนของรายได้จากการขาย 75.5% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 24.5% มาจากสินค้าอุปโภค

ทั้งนี้จะพบว่า ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ยังคงรายงานกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.4% YOY มีกำไรสุทธิ 6,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% YOY การดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา บริษัทมีสาขาทั้งในกรุงพนมเปญและจังหวัดรอบนอก รวมทั้งสิ้น 66 สาขา (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66)

โดยมมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 83,558 บาท เพิ่มขึ้น 6.1% QOQ และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 7.9% YOY โดยมียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 84 บาท อยู่ในระดับเดียวกับไตรมาส 1/2566 ขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 995 คน เพิ่มขึ้น QOQ โดยไตรมาส 1/2566 มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 941 คน

สำหรับหุ้น CPALL ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป  550,214.96 ล้านบาท P/E 35.78 เท่า ราคาปิด ณ วันที่ 6 ต.ค.66 ที่ 61 บาท 



3.Tops Daily (บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC)

หลังจากที่ยกเลิกกิจการ FamilyMart และเปลี่ยนมาเป็น Tops Daily หรือ ท็อปส์ เดลี่ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ Tops Daily  เป็นร้านสะดวกซื้อ มีขนาดพื้นที่ 600 - 1,000 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้า อาหาร และบริการแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ต มีสาขากระจายทั่วประเทศ ทั้งแบบภายในศูนย์การค้า และแบบร้านค้า Standalone 

ปัจจุบันมีสาขาประมาณ 290 สาขาทั่วไทย แบ่งเป็น (ชื่อเดิม) ท็อปส์มาร์เก็ตและท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ 138 สาขา, ท็อปส์เดลี่ 135 สาขา, เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ 14 สาขา ท็อปส์ไฟน์ ฟู้ด 12 สาขา และท็อปส์คลับ 1 สาขา ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการรีแบรนด์ไปแล้วประมาณ 22 สาขา 

โดยในปีนี้ เซ็นทรัล รีเทลปรับกลยุทธ์เน้นความยืดหยุ่นนี้สอดรับกับแผนที่จะหันมาผลักดันแบรนด์ Tops ขึ้นเป็น Food Discovery & Destination และเบอร์ 1 Food Omni Retailer ด้วยการขยายสาขา Tops อีก 15 สาขา ครอบคลุมประเทศไทยและเวียดนาม

นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และอิตาลี บริหารงานใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก  ได้แก่ ฟู้ด แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ พร็อพเพอร์ตี้ และเฮลท์แอนด์เวลเนส โดยมีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 32 แบรนด์ 

โดยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก เซ็นทรัล รีเทล สามารถกวาดรายได้ถึง 123,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 113,100.45 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,735.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2,690.31 ล้านบาท และไตรมาส 2/66 มีรายได้รวม 60,002 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,567 ล้านบาท 

สำหรับหุ้น CRC ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป  238,224.50 ล้านบาท P/E 28.98 เท่า ราคาปิด ณ วันที่ 6 ต.ค.66 ที่ 39.00 บาท 



4.CJ MORE  (บมจ.คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG)

เสถียร เศรษฐสิทธิ์ แห่งคาราบาวแดง จับมือกลุ่มผู้ถือหุ้นในคาราบาวกรุ๊ป ‘แอ๊ด คาราบาว’ หรือ ยืนยง โอภากุล และณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ เปิดธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต (CJ Supermarket), ซีเจ มอร์ (CJ MORE) และ ร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’

บริษัทมีแผนตั้งงบประมาณปี 2566 ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท กับการรีโนเวตสาขาเก่า ปรับปรุงศูนย์กระจายสินค้า และขยายสาขาเพิ่ม 250 สาขา แบ่งเป็น ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต 150 สาขา และซีเจ มอร์ 100 สาขา ซึ่งในครึ่งปีได้เปิดไปประมาณ 100 สาขาแล้ว และตั้งเป้าที่จะเปิดให้ได้ 250 สาขาติดกันประมาณ 3-4 ปี

โดยจะเน้นทำเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้สิ้นปี 2566 ซีเจจะมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศรวม 1,100 สาขา จากเมื่อปี 2565 ขยายเพิ่ม 240 สาขาในทำเลภาคอีสานเป็นหลัก และในปีนี้ได้มีการหยุดขยายตัวในภาคอีสาน ดันรายได้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้า

ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปี 2569 จะขยายสาขาซีเจให้ครบ 2,000 สาขา แบ่งเป็น CJ Express 1,500 สาขา CJ MORE 500 สาขา จะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 40,000 ล้านบาท กำไรมากกว่า 2,500 ล้านบาท และภายในในปี 2573 ซีเจ จะขยายครบ 3,000 สาขา พร้อมกับสร้างรายได้โตกว่า 100,000 ล้านบาท ขณะที่ ร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ จะขยายสาขาได้ครบ 8,000 แห่งภายในปีนี้

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 ของ CBG กำไรสุทธิ 481.52 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.48 บาท ลดลง 35% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 742.45 ล้านบาท ขณะที่ผลงานงวด 6 เดือน 2566 กำไรสุทธิ 745.31 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.74 บาท ลดลง 47%เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,402.71 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.40 บาท

สำหรับหุ้น CBG ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 76,500.00 ล้านบาท P/E 46.97 เท่า ราคาปิด ณ วันที่ 6 ต.ค.66 ที่ 74.50 บาท

 

5.Lawson108 (ลอว์สัน)  (บมจ.สหพัฒนพิบูล หรือ SPC)

บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ร่วมทุนกับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ที่ปรับเปลี่ยนจากร้าน 108 shop ร่วมกับกลุ่มลอว์สัน อิงค์ ที่เป็นร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมี่ยม สไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งมีสาขาหลายสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น

โดยในช่วงปี 2563 ระบุว่า มีสาขาทั้งหมด 142 สาขา ให้บริการบนพื้นที่ที่หลากหลาย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะสาขาภายในสถานีรถไฟฟ้า มุ่งเน้นความสะดวกให้กับลูกค้า และเน้นเจาะกลุ่มคนวันทำงาน คนรุ่นใหม่ 

สำหรับหุ้น SPC ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป  20,377.50 ล้านบาท P/E 10.83 เท่า ราคาปิด ณ วันที่ 6 ต.ค.66 ที่ 62.00 บาท