วาระชาติ “ดิจิทัลวอลเล็ต” น้ำหนักผลเสียต่อตลาดหุ้น
วาระแห่งชาติไปแล้ว นโยบายแจกเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท แบบถ้วนหน้า ใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ท่ามกลางการตั้งคำถามถึงที่มาของแหล่งเงิน จนไปถึงการออกมาคัดค้านนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย “
ทั้งเป็นการจ่ายเงินหว่านแห เผชิญวินัยการคลังเสียหายเป็นภาระต้นทุนให้กับประเทศในระยะถัดไป และที่สำคัญประโยชน์แบบตัวคูณตามที่ระบุไม่มีความชัดเจน !!
เงื่อนไขตามที่มีข่าวออกมาแล้วคือ จะเริ่มใช้ภายในเดือนก.พ.2567 เป็นการใช้ระบบ blockchain จากแหล่งเงินออกกฎหมายกู้เงินหรือไม่ จะมีการใช้เงินแบงก์รัฐ เพื่อแจกเงินให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อใช้จ่ายภายใต้ระยะเวลา 6 เดือน กำหนดรัศมีภายใน 4 กิโลเมตร โดยมีคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตตาม ครม. แต่งตั้งกำหนดแนวทาง
จนเป็นที่มาของกระแสข่าวทั้งการใช้เงินทุนจากกองทุนวายุภักษ์ รวมไปถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อขยายเพดานหนี้ไปที่ 45% และล่าสุดท่าทีของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ออกมาส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ป่วยแต่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวแล้ว การใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจควรจะตรง และถูกจุดไม่ก่อให้เกิดภาระภายหลัง
ก่อให้เกิด ปรากฏการณ์ครั้งแรกของไทยที่นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ตบเท้ารวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาตรการดังกล่าว จากประโยชน์ที่จะได้รับน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมากซึ่งรัฐบาลควรรับฟังเพราะอาจทำให้ประเทศเสียโอกาสการใช้งบประมาณเพื่อลงทุนด้านอื่น
อีกทั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัย และเสถียรภาพการคลังในระยะยาว
หากดูในด้านนโยบายการเงินเมื่อมีการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ประมาณ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคจะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
เมื่อเงินเฟ้อสูงมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้เงินสถาบันการเงินของภาครัฐก็ล้วนแต่จะเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเมื่อมีการ rollover ซึ่งจะมีผลต่อเงินงบประมาณในแต่ละปี โดยที่ยังไม่ได้นับค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท
“กรณีจะสามารถการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ GDP ขยายตัวด้วยการแจกเงินจำนวนดังกล่าวเข้าไปในระบบอาจจะเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) มีค่าลดลงมาก โดยเฉพาะการแจกเงินของรัฐ เมื่อเทียบกับตัวทวีคูณทางการคลังของการใช้จ่ายประเภทโอนเงินมีค่าน้อยกว่า 1 ด้วยซ้ำ”
จากจดหมาย เปิดผนึกดังกล่าวแล้วสถานการณ์หนี้ของไทยยังเป็นสิ่งที่น่าห่วง สนค.เผยผลสำรวจหนี้สินประชาชนเดือนส.ค.2566 อยู่ที่ 90.6% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ มาตรการพักหนี้ของรัฐบาล และแนวทางแก้ไขหนี้ครัวเรือนของ ธปท.มีเป้าหมายลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนให้ลงเหลือ 80% ของ GDP ในระยะถัดไป
สอดคล้องรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายได้กลับทรงตัวในระดับต่ำยาวนาน ทำให้หนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงของไทยกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง หากหนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวปีละ 3-4% เช่นนี้ต่อไป ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับลดให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพีได้
อย่างไรก็ตาม นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังมีข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนคือ สามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนในช่วงต้นปี 2567 เพียงแต่แนวทางการหาเงินที่ยังไม่ชัดเจนทำให้เกิดความเสี่ยง ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 61% ของจีดีพีได้ และสุดท้ายส่งผลให้มีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มากขึ้นในอนาคต
แม้จะมีแรงปะทะออกมาคัดค้านมากขึ้น และจริงจัง แต่ท่าทีของรัฐบาลยังเดินหน้าต่อ ไม่มีการพับแผนนโยบายดังกล่าว ทำให้การประกาศแนวทางการหาแหล่งเงินจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมีผลต่อการลงทุนต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์