ตลาดทุน จี้รัฐเร่งหนุนออมหุ้น 'รับวัยเกษียณ - สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย'

ตลาดทุน จี้รัฐเร่งหนุนออมหุ้น  'รับวัยเกษียณ - สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย'

'วงการตลาดทุน' หวังรัฐบาลเร่งสนับสนุน"การออมหุ้น" รับวัยเกษียณ - สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย หลังดัชนีร่วงหนัก - ต่างชาติเทขายกว่า "แสนล้าน"

คงปฏิเสธไม่ได้นับตั้งแต่ต้นปี 2566 “ตลาดหุ้นไทย” อยู่ในภาวะเดินถอยหลังลงไปหา “จุดนิวโลว์” ต่อเนื่อง บ่งชี้ผ่าน ดัชนี SET INDEX เปิดตลาดต้นปีอยู่ที่ 1,674.23 จุด ทำจุดสูงสุดที่ 1,691.41 จุด (10 ม.ค.66) และทำจุดต่ำสุด 1,431.72 จุด (9 ต.ค.66) ซึ่งพบว่าดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไปแล้วกว่า 200 กว่าจุด จากสารพัดปัญหารุมเร้าทั้ง "ดอกเบี้ยขาขึ้น - เศรษฐกิจถดถอย-บอนด์ยีลด์พุ่ง-เงินเฟ้อ-ราคาน้ำมัน" และล่าสุดกับเหตุการณ์ "สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์"

ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นผันผวนรุนแรง... ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนไม่อาจนิ่งเฉย สะท้อนผ่านกำลังทบทวนแผนหารือกับทางภาครัฐ เพื่อหวังผลักดันให้ “กองทุนออมหุ้น” กลับมาคืนชีพอีกครั้ง ! และดูเหมือนจะมีโอกาสชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยร่วงแรง และไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาหนุน โดย “กรุงเทพธุรกิจ” สะท้อนมุมมองของเหล่า “กูรู” ในแวดวงตลาดหุ้นไทยมาให้ฟัง

ตลาดทุน จี้รัฐเร่งหนุนออมหุ้น  \'รับวัยเกษียณ - สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย\'

"พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม  (บลจ.) บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM กล่าวว่า หากย้อนดูหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวลงไปแล้วกว่า 200 จุด และปัจจุบันสถานการณ์ลงทุนในตลาดทุนไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนหลายเรื่องที่เป็น"ปัจจัยลบมหภาค" ทั้งจากต่างประเทศ และภายในประเทศกดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

โดยปัจจัยต่างประเทศก็ประเด็นลบใหม่เข้ามาซ้ำเติมคือ สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่กดดันบรรยากาศการลงทุน (เซนทิเมนต์เชิงลบ) จากปัจจัยเดิมที่ยังคงกดดันคือ เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า ซึ่งกระทบเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้ากับจีน และนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไม่มาก ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมานั้นเพียงพอหรือไม่ ,ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงในระยะยาว ทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็ง , เงินบาทอ่อน บอนด์ยีลด์อยู่ในระดับสูง

 ส่วนปัจจัยในประเทศแม้จะรัฐบาลใหม่ แต่นักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศยังคงกังวล เพราะยังไม่เห็นนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน  ส่วนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เงื่อนไขยังไม่ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้น การขึ้นค่าแรง มีผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) , งบประมาณปี 2567 ล่าช้าปีหน้ายังมีปัจจัยภัยแล้งเข้ามาอีก

 “จะเห็นว่ามีแต่ปัจจัยลบที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และนักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทยต่อเนื่อง  ซึ่งขณะนี้เรายังไม่มีปัจจัยบวก  นโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความไม่ชัดเจน ปัจจุบันมีแค่ดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น ทำให้ยังไม่สามารถที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามา เพราะนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่น โดยหวังว่าเห็นความชัดเจนนโยบายรัฐบาล หากชัดเจนเงินดิจิทัลตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ ”

นอกจากนี้ เม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ไม่มี ซึ่งนักลงทุนก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการออมระยะยาวในตลาดหุ้นไทย จะแนวเดียวกัน "กองทุนรวมหุ้นระยะยาว" (LTF) หรือไม่ใช่ LTF ก็ได้  ที่จะทำให้มีเม็ดลงทุนใหม่เข้าตลาดหุ้นไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น หากไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาตลาดหุ้นไทย ก็ไม่สามารถมีเงินเข้ามาชดเชยกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ระดับกว่า "แสนล้านบาท" ได้

 ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาที่จะทำให้เม็ดเงินใหม่ที่เป็น "เงินออมระยะยาว" เข้ามาในตลาดหุ้นไทย  ซึ่งตลาดทุนไทยถือว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย เนื่องจาก ตลาดทุนถือเป็นแหล่งที่ปั๊มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ  เพราะจะนำเม็ดเงินจากผู้ออมไปให้บริษัทที่ต้องการระดมทุน ทั้งเสนอขายหุ้น และเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อนำเงินไปลงทุนขยายธุรกิจ 

แต่จากปัจจุบันที่กองทุนไม่มีเม็ดเงินใหม่ ทำให้เมื่อมีหุ้นไอพีโอ เปิดขายกองทุนต้องขายหุ้นในกลุ่มเดียวกันเพื่อนำไปซื้อหุ้นไอพีโอ ประกอบกับภาวะตลาดหุ้นไม่ดี ทำให้บริษัทที่จะขายหุ้นไอพีโอต้องเลื่อนออกไป

“ดังนั้นที่สำคัญคนไทยต้องมั่นใจในการลงทุนระยะยาว ถ้าคนไทยยังไม่ซื้อหุ้นไทย แล้วจะดึงฟันด์โฟลว์เข้ามาซื้อได้อย่างไร ซึ่งทางเฟทโก้มีแผนที่จะเข้าไปพบนายกฯ เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องดังกล่าว  ”

 “ชวินดา หาญรัตนกูล” นายกสมาคมบริษัทจัดการ การลงทุน (AIMC) กล่าวว่า  จากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ และยังมีการออมที่ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศในโลก ซึ่งประชาชนควรที่จะมีการออมให้มากขึ้น ซึ่งตลาดทุนเป็นอีกทางเลือกในการออมเพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายในยามเกษียณ ที่มากกว่ามีเงินจากประกันสังคม 

ทั้งนี้ทางสมาคม บลจ.ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(เฟทโก้)ได้มีการหารือกันภายใน และจะมีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ในฐานะหน่วยงานกำกับ เพื่อจัดทำข้อมูลไปเสนอกับนายกรัฐมนตรี ให้มีการส่งเสริมการออมในตลาดทุนไทย รวมถึงจะหารือว่าภาคตลาดทุนจะช่วยสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่มุ่งสู่ Net Zero ในอีกประมาณ 40 ปีข้างหน้านั้นได้อย่างไร

"เราได้หารือกันภายในเฟทโก้ที่จะเข้าพบนายกฯ ให้รัฐสนับสนุนให้มีการออมในตลาดทุนไทย ซึ่งต้องรอว่านายกฯ จะมีเวลาให้เราเข้าพบได้เมื่อไร”

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ ให้มุมมองว่า หากรัฐบาลจะมีนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อย่าง การลงทุนผ่านกองทุนการออมเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น  “กองทุน LTF” เชื่อว่าจะเข้ามาช่วย “ลดความผันผวน” และ ทำให้ตลาดหุ้นไทยมี “เสถียรภาพ” มากขึ้น เพราะกองทุนดังกล่าวมีนโยบายการลงทุนในระยะยาว 

ดังนั้น การมีกองทุนการออม หรือกองทุนช่วยลดหย่อนภาษีในตลาดหุ้นไทยเหมือนในยุคหนึ่งที่ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพ และไม่ผันผวนรุนแรง และยังเป็นหนึ่งในทางเลือกในการลงทุนไว้สำหรับหลังการเกษียณอายุ ซึ่งกองทุนเหล่านี้ถือเป็นการส่งเสริมการออมเงินในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินจากกองทุน LTF มีจำนวนมาก แต่หลังจากยกเลิกกองทุนดังกล่าวไปทำให้ในช่วงที่ผ่านมา กำลังซื้อของกลุ่มกองทุนลดลงมาก ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นลงมาเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว สะท้อนผ่านเม็ดเงินเหล่านี้หายไปเยอะ เนื่องจากไม่มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ

โดยการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เป็นเช่นเดิม ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นลงทุนลักษณะของการ “เก็งกำไร” มากกว่าการลงทุนเพื่อออมเงินระยะยาวเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุน LTF หายไป และมีกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ “กองทุน SSF” ก็เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่เลือกซื้อกองทุน SSF ที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ไม่มีเม็ดเงินเข้ามาประคองดัชนีเวลาหุ้นไทยร่วงหนัก 

“มองว่าหากมีกองทุนการออมระยะยาวในตลาดหุ้นไทยจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นไม่แย่ลงไปกว่านี้ แต่ก็อาจจะไปหวือหวามาก เพราะต้องยอมรับตลาดหุ้นไทยความน่าสนใจลดลงไปมาก ด้วยคนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ดังนั้น ถ้าไม่มีนโยบายอะไรเข้ามาสนับสนุนมองว่าตลาดหุ้นไทยก็คงไม่ไปไหนไกลกว่านี้แล้ว”

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ให้มุมมองว่า หากมีการนำกองทุน LTF กลับมาใหม่ มองว่าจะเป็นตัวช่วยลดความผันผวน และสร้างเสถียรภาพให้ตลาดหุ้นไทยอีกด้วย ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่ยกเลิกกองทุน LTF เม็ดเงินหายออกไปในตลาดจำนวนมาก

ทั้งนี้ มองในภาพใหญ่ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปใหญ่ขึ้น ส่วนเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะเติมเข้ามาไม่มี ยังเป็นเม็ดเงินก้อนเดิมที่หมุนเวียน โยกลงทุนในหุ้นแต่ละกลุ่มเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ตลาดหุ้นไทยไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ ขณะที่ฟันด์โฟลว์ต่างชาติก็ยังไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย ตามสถิติ 10 ปีย้อนหลังต่างชาติขายหุ้นไทยไปว่า 9.2 แสนล้านบาทแล้ว

“การนำ LTF กลับมาไม่ต้องเสียเวลา เพราะคอนเซปต์เดิมดีอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่ยกเลิกไปเงินหายไปจากตลาดหุ้นค่อนข้างมาก เพราะไม่มีเงินก้อนใหม่เติมเข้ามา มีแต่เงินเดิมที่โยกเล่นหุ้นในแต่ละกลุ่มเท่านั้น รวมทั้งเม็ดเงินต่างชาติก็ยังไม่กลับมาซื้อหุ้นไทย”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์