'GULF-MILL' เซ็นสัญญา ‘กฟภ.’ พัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ มูลค่ารวม 3.5-3.6 พันล้าน
GULF-MILL ลงนามในสัญญากับ กฟภ. พัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 2 แห่ง รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 16 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวม 3,500-3,600 ล้านบาท มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 20 ปี
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี2565 –2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566
โดยบริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 1 จำกัด และบริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 2 จำกัด (“โครงการฯ”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 51 ร่วมกับบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลและบริหารจัดการกากขยะอุตสาหกรรมภายใต้กลุ่มบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 49 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น
บริษัทฯ ขอแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 โครงการฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (“กฟภ.”) เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาโครงการละ 8 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ
รวมเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งสิ้น 16 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,500 –3,600 ล้านบาท โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวมีระยะเวลา 20 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ
ทั้งนี้ทั้ง 2 โครงการมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 การเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของบริษัทฯ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) และการมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)
โดยโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมดังกล่าวใช้กระบวนการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อจัดการขยะอุตสาหกรรมจากโรงงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบในประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม