นโยบายลด “เบนซิน” เขย่าธุรกิจน้ำมันครั้งใหญ่
นับถอยหลังมาตรการประชานิยมเพื่อลดภาระค่าครองชีพ –เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชนตามที่หาเสียงเอาไว้ หลังดำเนินการไปแล้วชุดแรก มติคณะรัฐมนตรีตรึงราคาดีเซลและลดค่าไฟฟ้า ตามมาด้วย “เงินดิจิทัล10,000 บาท ” และลดค่าน้ำมันเบนซินทั้งระบบเป็นครั้งแรก !!
แทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะพุ่งเป้าลดค่าครองชีพประชาชนด้วยกลไกราคาน้ำมันดีเซลเพราะถือว่าเป็นสินค้าจำเป็นในภาคเกษตร-อุตสหกรรมและขนส่ง แตกต่างจากน้ำมันเบนซินที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยตามกำหนดของกฎหมาย
ที่ผ่านมาจึงเห็นทุกรัฐบาลจะลดค่าน้ำมันไปที่ฝั่งดีเซลด้วยการใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)เข้ามารองรับแหล่งเงินด้วยการให้ทยอยลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล จากราคา 35 บาทต่อลิตร มาเป็น 32 บาทต่อลิตร จนปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566 โดยเบื้องต้นใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาทต่อลิตร และใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาราคาขายปลีก และขั้นต่อไปถือการ “ปรับลดน้ำมันเบนซิน”
ภายใต้หลักการประกาศมาแล้วจะไม่ได้เป็นการลดเบนซินได้ทุกตัว แต่จะลดในส่วนของเบนซิน 91 โดยพยายามที่จะลดราคาให้ได้ 2.50 บาทต่อลิตร และจะให้เสร็จก่อนปีใหม่ “ แต่กลับเป็นโจทย์ยากกว่าเพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ที่สำคัญจะใช้กลไกเหมือนดีเซลทั้งหมดไม่ได้ เพราะยังต้องห่วงสถานะเงินกองทุนและรายได้จากภาษีด้วย
ตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานรับจะจัดการเกิดขึ้นมี 2 ประเด็น คือ “แตะค่าการตลาด” และ “ปรับโครงการน้ำมันทั้งระบบ “ หลังจากมีการยื่นแนวทางดำเนินการเน้นกลุ่มช่วยเหลือมอเตอร์ไซด์รับจ้าง -ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ แต่ถูกปัดตกไปก่อนเสนอเข้าครม. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. มาเป็นเงื่อนไข “ลดราคาน้ำมันเบนซินในภาพรวมแบบน้ำมันดีเซล”
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องค่าการตลาดนั้น ล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการมาศึกษาโครงสร้างค่าการตลาดน้ำมันขึ้นมา 1 ชุด เพื่อตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด ได้มีประชุมนัดแรกไปแล้ว 18 ต.ค.นี้ และจะสรุปให้ได้ใน 30-60 วัน ที่สำคัญหากเอกชนไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องยึดของทางราชการเป็นหลัก
ภาครัฐเสียงเข้มทำให้ตลาดหุ้นเริ่มมีความกังวลหุ้นกลุ่ม้ำมันที่มีทั้งโรงกลั่น และปั๊มน้ำมันสำหรับค้าปลีก หลังจากภาครัฐ “ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงานได้พูดคุยกับธุรกิจโรงกลั่นแล้วแต่ด้วยกฎหมายที่เป็นการค้าเสรีจะแทรกแซงทำได้ยากจะข้อกฎหมาย จึงกลายเป็นที่มาว่าต้องแก้ไขกฏหมายให้ภารรัฐสามารถเป็นผู้กำหนดกติกาได้
“แม้เป็นการค้าเสรีก็ต้องอยู่ภายใต้กติกา ไม่ใช่เสรีแบบไม่มีขอบเขต ไม่มีประเทศไหนในโลกทำแบบนี้ ดังนั้นต้องแก้กฏหมายเพื่อให้เกิดการกำกับ ควบคุม ดูแลให้เกิดความเหมาะสมสำหรับการแก้ไขกฏหมายจะไม่ล่าช้า แต่ต้องได้คำตอบชัดเจนว่าต้องแก้จุดไหน เพราะคนร่างกฏหมายคือตน และจะร่างเองทุกฉบับ แต่อาจไม่เสร็จสิ้นทันช่วงปีใหม่นี้ เพราะกฏหมายมีหลายฉบับ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมแก้ไขปัญหาทั้งหมด”
หันมาดูเฉพาะ ตลาดค้าปลีกน้ำมันส่วนแบ่งการตลาด มากที่สุด หนีไม่พ้น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ 40.70 % ถัดมาเบอร์ 2 ที่ก้าวกระโดด บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG 16.60 % อันดับ 3 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่15.60 % และ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO ที่12 %
แทบทุกบริษัทได้เจอผลกระทบดังกล่าวถ้วนหน้าเนื่องจากตามโครงสร้างรายได้ธุรกิจน้ำมันยังเป็นสัดส่วนรายได้หลักมากกว่า 50 % โดย PTG นอกจากจะมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจน้ำมันมากที่สุดใน 4 รายใหญ่แล้วที่ 96 % กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงที่บริษัทขายในสัดส่วนที่มากที่สุด 72% เป็นน้ำมันดีเซล ส่วนที่เหลือ 28% เป็นน้ำมันเบนซิน
ส่วน OR สัดส่วนรายได้ธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 91.2 % ,BCP อยู่ที่ 70 % เนื่องจากมีธุรกิจโรงกลั่นเป็นหลักและเร่งกระจายไปยังธุรกิจพลังงานสีเขียวมากขึ้น และ ESSO มีสัดส่วน 85 % ของรายได้
อย่างไรก็ตามมุมมองเห็นต่างจากรัฐบาลหากใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันหรือทุ่มเงินมาที่พลังงานทำให้เกิดภาระทางการคลัง รัฐบาลขาดดุลเงินสดมากขึ้น ขณะที่ไม่ได้เป็นการปรับหรือทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันให้เหมาะสมเป็นธรรม
แม้รัฐบาลชุดนี้มีการปรับลดค่าไฟฟ้า 2 ครั้ง รวม 46 สตางค์ จากหน่วยละ 4.45 บาท เหลือ 3.99 บาท ซึ่งราคาที่ลดลงนี้ไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้างเช่นกัน แต่เกิดจากการยืดหนี้ที่ต้องจ่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกไป