เบื้องลึก ‘เสี่ย อ.’ ตัวจริง ! ป่วนหุ้น PSP ทำตลาด IPO วิกฤติ

เบื้องลึก ‘เสี่ย อ.’ ตัวจริง ! ป่วนหุ้น PSP ทำตลาด IPO วิกฤติ

เผยเบื้องลึก “เสี่ย อ.” ตัวจริง !! ป่วน “หุ้น พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์” (PSP) ของตระกูล “ครองพาณิชย์” จนราคาดิ่งหนัก 2 ฟลอร์ แถมยังทำตลาดไอพีโอเข้าขั้นวิกฤติ หลังอาจจะมีเอี่ยวถล่มขายหุ้น MCA วันแรกร่วงกว่า 40%

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ทำให้นักลงทุน “แตกตื่น” และวิพากษ์วิจารณ์กันหนัก คงหนีไม่พ้น “การดิ่งฟลอร์” (Floor) 2 วันติดของหุ้น PSP หรือ บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) จนราคาดิ่งลงลึกสุดเหลือแค่ 3.44 บาทเท่านั้น (27 ต.ค.66) ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 6.20 บาท โดยหุ้น PSP มี “กลุ่มครองพาณิชย์” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 รายแรก (ตัวเลข 25 ส.ค.2566)

PSP เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์หล่อลื่นครบวงจร (Total Solution Provider) ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานของทั้งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หล่อลื่น เข้าระดมทุนด้วยการออกหุ้นขายไอพีโอ 350 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.20 บาท เข้าซื้อขายวันแรกเมื่อ 30 ส.ค.2566 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)

การถล่มขายหุ้น PSP ในครั้งนี้ ! คนในแวดวงหุ้นเชื่อว่าต้องมี “เบื้องลึกซ่อนอยู่” แน่นอน ซึ่งก็มีกระแสข่าวว่า กลุ่มของ ดร.ท่านหนึ่ง ที่ชอบทำตัวเป็นนักแสวงบุญอาจมีเอี่ยว แต่ในความเป็นจริง ชัดเจนแล้วว่างานนี้ ดร.นักแสวงบุญอาจไม่มีส่วนรู้เห็น แต่เป็นอดีตคนในก๊วนเดียวกันที่แยกวงออกมา ซึ่งก็คือ “เสี่ย อ.”

โดย “เสี่ย อ.” กับ ดร.ท่านนั้น เพิ่งแตกคอกันไม่นานจากปัญหาเรื่องการลงทุนในหุ้นตัวหนึ่ง ทำให้ทั้ง 2 คน ตัดสินใจแยกวงออกปโลดแล่นในยุทธจักรวงการหุ้น! 

สำหรับ “เสี่ย อ.” ถือเป็นหัวหอกเริ่มปฏิบัติการทำหุ้น PSP คนเดียว โดยเลือกใช้วิธีให้พวกพ้องของตนเองเปิด “บัญชีม้า” มารับซื้อหุ้น PSP ตั้งแต่ราคา IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นที่เสนอขาย 350 ล้านหุ้น

นอกจากนี้ ยังได้พยายามนำหุ้น PSP ออกไปเร่ขายให้เหล่า “กองทุน” ซึ่งมีกองทุนส่วนบุคคลบางแห่งหลงเข้าซื้อหุ้นจำนวน 10 ล้านหุ้น ว่ากันว่าซื้อกันในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่กองทุนอื่นๆ ไม่มีใครสนใจซื้อ อาจเพราะด้วยภาวะการลงทุนในช่วงนี้ดูจะไม่เอื้ออำนวยเท่าไรนัก

หากย้อนดูปฏิบัติการสร้างราคาหุ้น PSP น่าจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เข้าซื้อขายวันแรกในตลาด SET ทำราคาเปิดที่ 9.40 บาท เพิ่มขึ้น 3.20 บาท หรือ 51.61% จากไอพีโอ 6.20 บาท ซึ่งในวันแรกซื้อขายพบรายการกระดานการซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big lot) จำนวน 102.90 ล้านหุ้น มูลค่า 637.98 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 6.20 บาท

ก่อนจะถูกไล่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนขึ้นมา “สูงสุด” ที่ 13.90 บาทต่อหุ้น (5 ก.ย.66) ต่อมาเมื่อ 8 ก.ย.66 พบบิ๊กล็อต 2 รายการ รวม 10 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 10 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าในกระดาน

แม้ “เสี่ย อ.” จะพยายามไล่ราคาแต่ด้วยสถานการณ์ตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย แถมราคาหุ้นยังทิ่มหัวลงตามภาพใหญ่ของตลาดหุ้น และแล้ว ! เมื่อวันที่ 26 ต.ค.66 ปฏิบัติการถล่มขายหุ้น PSP เริ่มขึ้น หลังราคาหุ้นดิ่งฟลอร์แรก และ 27 ต.ค.66 ดิ่งฟลอร์ที่สอง !!

สิ่งสำคัญที่ทำให้หุ้นร่วงหนักมากน่าจะอยู่ที่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Corner แตก” ซึ่งคาดว่า “เสี่ย อ.” ที่เป็นหนึ่งในคนทำ Corner หุ้น PSP นั้น อาศัยการกู้เงินหรือซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นร่วงหนักจึงโดน “บังคับขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน” (Force Sell) ไปด้วย

 

 

ล่าสุด แม้วันนี้ (30 ต.ค.66) ราคาหุ้น PSP จะพลิกจากก้นเหวจากราคา 3.44 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ราคาจุดสูงสุดของวันที่ 4.24 บาท คาดว่าจะเป็นความพยายาม “กู้ศรัทธาคืน” จากผู้ถือหุ้นใหญ่บางกลุ่ม !

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ถล่มหุ้น PSP ดิ่งฟลอร์ 2 วันติด เป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกับหุ้นน้องใหม่ บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ MCA เข้าซื้อขายวันแรก (26 ต.ค.66) ที่เปิดตลาด 3 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 9.09% จากไอพีโอ 3.30 บาท ซึ่งเบื้องหลังการถล่มขายหุ้น MCA ดูเหมือนจะมีความเกี่ยวโยงกับ “เสี่ย อ.” ด้วย

โดยมีรายงานว่า “เสี่ย อ.” อาจรับหน้าที่เป็น Market Maker ให้กับหุ้นตัวนี้ด้วย แต่เมื่อหุ้น PSP มีปัญหาจึงไม่มีทางเลือก ต้องชิงขายหุ้น MCA เพื่อนำเงินไปประคับประคองหุ้น PSP ที่เป็นเหมือนฐานที่มั่นหลัก

แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม คนที่เดือดร้อนสุดคงหนีไม่พ้น ผู้ถือหุ้น MCA ซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ กลับต้องมาขาดทุนจากราคาหุ้นที่ดิ่งพสุธา ต่ำกว่าราคาไอพีโอไปกว่า 40%

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ทำเอานักลงทุนที่คร่ำหวอดในตลาดหุ้นต่างขวัญผวาไปตามกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่เข้าตลาดวันแรกก็ร่วงยับเยิน ซึ่งก่อนหน้าหุ้น MCA เข้าเทรดก็ หุ้น WINDOW สถานการณ์ไม่ต่างกันถูกลากราคาขึ้นไปก่อนถล่มขายจนต่ำกว่าราคาจองกว่า 40% ซึ่งหุ้น WINDOW เบื้องหลังการถล่มขายคาดว่าจะเป็นฝีมือ “ดร.นักแสวงบุญ” เป็นคนปฏิบัติการถล่ม !!

ส่วนวานนี้ (30 ต.ค.66) มีหุ้นน้องใหม่อีกตัว ORN หรือ บมจ.อรสิริน โฮลดิ้ง ซึ่งเข้าใจว่าไม่ได้มีใครดูแลเป็นพิเศษ แต่เมื่อเข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นปิดตลาดดิ่งลงกว่า 26% มาอยู่ที่ระดับ 1.09 บาท ลดลง 0.40 บาท จากราคาไอพีโอ 1.49 บาท เหตุการณ์ในวานนี้อาจสะท้อนได้ถึงความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นเข้าใหม่

ประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อคือ ในวันนี้ (31 ต.ค.66) จะมีหนึ่งน้องใหม่อีกตัว คือ บมจ.นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น (NAM) ซึ่งหุ้นตัวนี้ในแวดวงนักวิเคราะห์ยกให้เป็นหุ้นที่พื้นฐานแน่นปึก แถมยังมีแบ็คอัพดี เช่น กลุ่ม ปตท. หรือแม้แต่กลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) และ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ก็ร่วมถือหุ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ถ้างานนี้ NAM ยังร่วงต่ำจองอีก ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงหายนะในตลาดไอพีโอ เพราะสะท้อนชัดว่านักลงทุนกำลังสิ้นศรัทธากับหุ้นน้องใหม่แล้ว!

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์