ทำไม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ใช้ ‘สีดัชนี’ สวนกระแสโลก สีแดงแทน ‘หุ้นขึ้น’ สีเขียวแทน ‘หุ้นร่วง’

ทำไม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ใช้ ‘สีดัชนี’ สวนกระแสโลก สีแดงแทน ‘หุ้นขึ้น’ สีเขียวแทน ‘หุ้นร่วง’

ไขข้อสงสัยทำไม “ตลาดหุ้นจีน” เลือกใช้ “สีแดง” แทนหุ้นขึ้น และ “สีเขียว” แทนหุ้นร่วง สวนทางตลาดหุ้นทั่วโลก สิ่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

Key Points

  • วัฒนธรรมจีนชื่นชอบสีแดงมาก มองว่า “สีแดง” เป็น “สีแห่งความมงคลและรุ่งเรือง” ดังจะเห็นได้จากเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานมงคลจีนล้วนประดับด้วยสีแดง
  • จีนมีสำนวนสำคัญหนึ่ง คือ “ไต้ลวี่เม่า” (戴绿帽) ซึ่งแปลว่า “สวมหมวกสีเขียว” อันหมายถึง การโดนสวมเขาหรือถูกคนรักนอกใจ
  • คำว่า “สีแดง” หรือ “Red” ถูกใช้ในภาษาอังกฤษในแง่ “ไม่มีเงิน” เช่น Our business is in the red. หมายถึง ธุรกิจของพวกเราเป็นหนี้อยู่, Not a red cent ไม่มีเงินเลย ฯลฯ


รู้หรือไม่ ช่วงที่กระดานหุ้นไทยร่วงแดงเถือก จนหลายคนแซวติดตลกว่า คงต้องซื้อ “แว่นสีเขียว” ใส่แล้ว เผื่อทุกอย่างจะได้ดีขึ้น แต่มีประเทศหนึ่งที่ใช้สีดัชนีตลาดหุ้น “สวนทาง” กับตลาดหุ้นทั่วโลก นั่นคือ “ตลาดหุ้นจีน” ที่ใช้ “สีแดง” เพื่อสื่อถึงหุ้นปรับตัวขึ้น และ “สีเขียว” หมายถึงหุ้นปรับตัวลง

เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีน ก็ใช้ทั้งสองสีนี้ในทำนองเดียวกันกับตลาดหุ้นจีน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ทำไม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ใช้ ‘สีดัชนี’ สวนกระแสโลก สีแดงแทน ‘หุ้นขึ้น’ สีเขียวแทน ‘หุ้นร่วง’

- สีดัชนีตลาดหุ้นจีน จะเห็นได้ว่า หุ้นขึ้นหรือแม้แต่แท่งเทียนขาขึ้น ก็ใช้สีแดง (เครดิต: 中国基金报) -

ทำไม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ใช้ ‘สีดัชนี’ สวนกระแสโลก สีแดงแทน ‘หุ้นขึ้น’ สีเขียวแทน ‘หุ้นร่วง’ - เมื่อหุ้นจีนร่วง ใช้สีเขียว (เครดิต: 路透) -

  • “สีแดง” สีแห่งความมงคลของชาวจีน

สำหรับที่มาที่ไปของเรื่องนี้ มาจากการที่วัฒนธรรมจีนชื่นชอบสีแดงมาก มองว่า “สีแดงเป็น “สีมงคลและรุ่งเรือง” ดังจะเห็นได้จากเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานมงคลจีนล้วนประดับด้วยสีแดง ตั้งแต่เทศกาลตรุษจีน ชุดงานแต่งจีน การ์ดงานแต่ง ลูกประทัด เทียนไหว้เจ้า โคมไฟจีน ประตูวัง พระตำหนักจีน ฯลฯ ล้วนเป็นสีแดง

แม้แต่ภัตตาคารจีนในหลายที่ก็มีสีแดง เพื่อเป็นสิริมงคล ดึงดูดให้ลูกค้าหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย อีกทั้งอั่งเปา (红包) หรือ “ซองแดงที่ใส่เงิน ผู้ใหญ่จะมอบให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว เพื่ออวยพรให้หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อน “ความสำคัญของสีแดง” ในสังคมจีน ที่สื่อถึงความโชคดี และมั่งคั่งตลอดปี

คำว่า “สีแดง” หรือในภาษาจีนเรียกว่า “หง” (红) ถูกใช้เป็นคำศัพท์มงคลมากมาย อาทิ หงเหริน (红人) ที่แปลว่า คนดัง/คนโปรด, หว่างลู่หงเหริน (网路红人) เน็ตไอดอล, หงลี่ (红利) เงินโบนัส, หงฉี (红旗) ธงชาติจีน, หงฮัว (红火) เฟื่องฟู, หงอวิ้น (红运) โชคดี, ฯลฯ

  • “สีเขียว” กับความหมายในเทศกาลเช็งเม้ง

ขณะที่ “สีเขียว” แม้จะเป็นสีธรรมชาติและสบายตา แต่สีเขียวก็ถูกใช้ในเทศกาลวันเช็งเม้งหรือวันรวมญาติ เพื่อไหว้และระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ที่ป้ายหน้าหลุมศพจะบอกรายละเอียดตั้งแต่ชื่อแซ่ เพศ ภูมิลำเนา และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว โดยใครที่ยัง “มีชีวิตอยู่” ชื่อบนป้ายจะยังคงเป็นสีแดง แต่หากใคร “ล่วงลับไปแล้ว” ชื่อจะทาด้วยสีเขียวแทน

นอกจากนี้ จีนมีสำนวนสำคัญหนึ่ง คือ “ไต้ลวี่เม่า” (戴绿帽) ซึ่งแปลว่า “สวมหมวกสีเขียว” อันหมายถึง การโดนสวมเขาหรือถูกคนรักนอกใจ ดังนั้นจึงเป็นข้อระวังว่า ไม่ควรซื้อหมวกสีเขียวเป็นของฝากให้ชาวจีน

ความเป็นมาทางวัฒนธรรมเหล่านี้ จึงทำให้ชาวจีนใช้สีแดง แทน “หุ้นขึ้น” และสีเขียว สะท้อนถึง “หุ้นร่วง”

  • “สีแดง-เขียว” ในตลาดหุ้นทั่วโลก

สำหรับ “สหรัฐ” ซึ่งมีเศรษฐกิจและตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก นักลงทุนทั่วโลกต่างต้องติดตามตลาดหุ้นสหรัฐ และนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะเป็นตลาดระดับยักษ์ที่สามารถส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลกได้ จนกลายเป็นหลักสากลว่า “หุ้นขึ้น ใช้สีเขียว และหุ้นร่วง ใช้สีแดง”

สำหรับสีแดง ถือเป็นสีสากลที่หมายถึง “อันตราย” ดังจะเห็นจากป้ายเตือนภัยต่าง ๆ รถพยาบาล ห้องฉุกเฉิน รถดับเพลิง สัญญาณไฟจราจรสีแดง ขณะที่สีเขียว หมายถึง ปลอดภัย ผ่านได้สะดวก

สีแดงยังถูกใช้ในภาพยนตร์สยองขวัญต่าง ๆ เพื่อสื่อถึง “เลือด” ซึ่งก่อให้เกิดความน่าสะพรึงกลัว อันเป็นอารมณ์เดียวกันกับในช่วงที่หุ้นถูกแห่เทขายด้วย

คำว่า “สีแดง” หรือ “Red” ถูกใช้ในภาษาอังกฤษในแง่ “ไม่มีเงิน” เช่น Our business is in the red. หมายถึง ธุรกิจของพวกเราเป็นหนี้อยู่, Not a red cent ไม่มีเงินเลย, Out of the red ไม่ใช่หมายถึงหลุดจากสีแดง แต่หมายถึง พ้นจากหนี้สิน

ยิ่งไปกว่านั้น สีแดงยังสื่อถึงอันตราย เช่น Red Flag ที่แปลว่า ธงแดงที่ควรถอยห่าง และยังหมายถึงข้อพิรุธที่ควรระวัง, Caught red-handed จับได้คาหนังคาเขา เช่น He was trying to steal a car and the police caught him red-handed. ตำรวจจับเขาได้คาหนังคาเขาขณะกำลังพยายามขโมยรถ ฯลฯ     

ส่วนสีเขียวในสหรัฐ หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ การเกิดใหม่ ความสดชื่น และรักสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธนบัตรสหรัฐก็เป็นสีเขียว อีกทั้งสีเขียวยังสื่อถึงความราบรื่น ไม่ติดขัด เช่น Green Card ที่เปรียบดั่งใบเบิกทางให้สามารถเข้าออกและทำงานในสหรัฐได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า หรือแม้แต่ Green Light ที่แปลว่า เปิดไฟเขียว ได้รับการอนุมัติให้ผ่านได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อหุ้นพุ่งทะยาน จึงใช้สีเขียวที่คล้ายการเกิดใหม่ ซึ่งอาจปรับตัวเป็นขาขึ้น ขณะที่หุ้นร่วง สะท้อนว่า ตลาดกำลังอยู่ในสภาวะความกลัวและอันตราย จึงใช้สีแดงแทน

เนื้อหาเหล่านี้ก็ถือเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของตลาดหุ้น โดยจะเห็นความแตกต่างระหว่าง ตลาดหุ้นทั่วโลกอันมีตลาดหุ้น “สหรัฐ” ที่ทรงอิทธิพลที่สุด ใช้สีเขียวที่หมายถึงการเกิดใหม่และราบรื่น แทนหุ้นขึ้น ส่วนสีแดงที่เหมือนสีเลือดและการเตือนภัย สะท้อนถึงภาวะหุ้นร่วง

ขณะเดียวกัน “จีน” ซึ่งมีอารยธรรมราว 5,000 ปี และเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมในญี่ปุ่น ดังจะเห็นจากญี่ปุ่น มีการใช้ “ตัวอักษรคันจิ” อันเขียนเหมือนตัวอักษรจีน ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองประเทศจึงใช้สีแดงซึ่งเป็นสีมงคล แทนหุ้นขึ้น และสีเขียวที่ใช้ในเทศกาลไหว้เช็งเม้ง แทนหุ้นตกนั่นเอง 

ทำไม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ใช้ ‘สีดัชนี’ สวนกระแสโลก สีแดงแทน ‘หุ้นขึ้น’ สีเขียวแทน ‘หุ้นร่วง’

ทำไม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ใช้ ‘สีดัชนี’ สวนกระแสโลก สีแดงแทน ‘หุ้นขึ้น’ สีเขียวแทน ‘หุ้นร่วง’ - สีดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น (เครดิต: TBSテレビ) -

อ้างอิง: shutterstockbbcchineseppl