'การบินไทย'มุ่งคุม'ต้นทุนคงที่' หวังตุนกระแสเงินสด เตรียมจ่ายหนี้ปีหน้า
THAI มุ่งคุม"ต้นทุนคงที่ ดันกระแสเงินสด ล่าสุดอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้าน เตรียมจ่ายหนี้ “เจ้าหนี้การค้า -บัตรโดยสาร-หุ้นกู้”ปีหน้า มั่นใจเพิ่มทุนได้ภายในปี 67 จ่อรับเครื่องบินใหม่ปีหน้าอีก 6 ลำ
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน และบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด และยังคงบริหารจัดการต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนคงที่ ไม่ให้สูงมากเกินไป ทั้งในส่วนของพนักงานที่การบินไทย Outsourceมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในเรื่องการให้บริการนั้นบริษัทก็จะไม่ลดคุณภาพในการให้บริการ
สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งบริษัทได้มีการจัดทีมขึ้นมาดูแลเรื่องของต้นทุนน้ำมันโดยเฉพาะ
ส่วนการเพิ่มทุนคาดว่าจะเพิ่มทุนได้ภายในปีหน้า ซึ่งหนุนให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้น จาก ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 งบเฉพาะกิจการบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 47,678 ล้านบาท แต่เป็นการติดลบที่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ติดลบ 63,493 ล้านบาท
"ตอนเกิดโควิดระบายเราได้ลดพนักงานเรื่อยๆ เหลืออยู่ที่ 15,000 คน ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้เรารับพนักงานเพิ่ม แต่ก็มีการบริหารจัดการต้นทุนไปพร้อมกัน โดยค่าใช้จ่ายที่เราไม่อยากให้เพิ่มมากเกินไป คือต้นทุนคงที่ เราก็ควบคุม แต่ไม่ลดคุณภาพการให้บริการ"
นางเฉิดโฉม กล่าวว่า งบการเงิน ณ สิ้นงวด 9 เดือน 2566 งบการเงินเฉพาะกิจการมีกระแสเงินสด 52,701 ล้านบาท แต่หากงบรวมอยู่ที่ 53,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น130% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นสูงนั้น บริษัทจะชำระหนี้ ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้บัตรโดยสาร เจ้าหนี้หุ้นกู้ ซึ่งบริษัทอยากให้เจ้าหนี้ดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลการชำระคืนเงิน จากที่บริษัทจะเริ่มชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆตามแผนรวมถึงการขายทรัพย์สินหรือให้เช่าทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหลัก ซึ่งจะแจ้งความคืบหน้าเป็นรายไตรมาส
“ที่เห็นเงินสดเราเพิ่มขึ้น เพราะเราสะสมเงินสดเพื่อสำรองไว้ เพื่อใช้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟู และเตรียมไว้สำหรับด้านไอที เราก็พยายามดูเรื่องของกระแสเงินสดให้เพียงพอในการดำเนินงานหรือไ่ม่ เพราะ วันนี้เราได้เครดิตเทอมยังไม่ครบ ต้องใช้เงินสดในการดำเนินงาน”
สำหรับแนวโน้มความต้องการเดินทางมีทิศทางค่อยๆเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทพบว่ามีความท้าทายและความเสี่ยงที่บริษัทเห็นชัดมากขึ้น ในส่วนของการแข่งขัน เพราะก่อนหน้านี้ภาพรวมจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการจำนวนไม่มาก แต่วันนี้จำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้น ทำให้ซัพพลายจำนวนที่นั่งมากขึ้น ซึ่งบริษัทก็จับตาดูอย่างใกล้ชิด และยังคงปรับกลยุทธ์การขายตั๋วโดยสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
ส่วนกรณีข้อพิพาทในแถบตะวันออกลางนั้น ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะ ประเด็นดังกล่าวนั้นมีผลต่อการเดินทางของประชาชน รวมถึงประเด็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น เศรษฐกิจของประเทศจีน ทำให้การเดินทางของคนจีนยังชะลอตัว ยังไม่เข้ามาตามที่ประเทศไทยคาดการณ์ไว้
“การเดินทางที่โตโดดเด่น จะเป็นแถบเอเชียไปสหรัฐ ยุโรปมาเอเชีย และ ยุโรปไปตะวันออกกลาง ส่วนฟรีวีซ่านั้นถือเป็นผลบวกอยู่แล้วแต่จะมากหรือน้อยนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไป ”
ทั้งนี้จากที่การบินไทยจะมีการควบรวมกับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (สายการบินไทยสมายล์) ทำให้การบินไทยก็จะเข้าไปบินแทน ไทยสมายล์ ซึ่งการบินไทยก็ได้มีการทำการตลาดในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสตันบูล ฯลฯ ซึ่งที่อิสตันบูล นั้น จะเริ่มบินเป็นFlightแรกวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งจะทำการบินทุกวัน และได้มีการเซ็นสัญญากับคู่ค้าต่างๆ และในสิ้นทางในประเทศก็มีการเพิ่มจุดบินใหม่เพิ่มขึ้น 9 จุดการบิน
อย่างไรก็ตามกรณีที่สายการบินยกเลิกเที่ยวบินจากจีนมาไทยนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของการบินไทย เนื่องจากบริษัทได้มีการปรับเส้นทางการบินไปที่อื่นมาตั้งแต่กลางปี โดยไปเพิ่มจุดบินใหม่ ซึ่งถือว่าเราปรับตัวได้ทันที โดยสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นเพียง 5% ของรายได้รวมของบริษัท
สำหรับปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินในการให้บริการ 68 ลำ ซึ่งในไตรมาส3ปี 2566 ได้รับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 1 ลำ และจะรับมอบเพิ่มอีก 2 ลำ ในไตรมาส4 ทำให้สิ้นปีนี้มีเครื่องบินให้บริการรวม 70 ลำ และในปี2567 มีแผนรับมอบเครื่องบินอีก 8 ลำ ทำให้สิ้นปี2567 มีจำนวนเครื่องบินให้บริการ 78 ลำ