ราชกิจจาฯ ประกาศให้ผู้เสียหาย หุ้น STARK ขอคืนทรัพย์ ยื่นคำร้องถึง 26 ก.พ.67
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ให้ผู้เสียหาย คดีหุ้น STARK ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิถึง 26 ก.พ.67 หรือกำหนดระยะเวลา 90 วัน
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน โดย นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ให้ยึด และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน
และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระรายคดี นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก กล่าวคือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และบริษัทย่อย ได้มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท ในปี 2564 ถึงปี 2565 และเปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบแสดงรายการข้อมูล)
โดยเปิดเผยงบการเงินประจำปี 2564 ที่มีการตกแต่งบัญชี และปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงข้อมูลในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet)โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และโดยการหลอกลวงนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนี้
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีการยื่นคำขออนุญาต และแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ Filing) โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่มีการตกแต่งบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวข้องของบริษัท อันเป็นข้อความเท็จ รวมถึงปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ เป็นเหตุให้ผู้ลงทุนดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2565 จึงขอให้บุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานในรายคดีดังกล่าว และไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหาย และจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินภายใน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขั้นตอน และวิธีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน
1.ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องฯ ต้องเป็น "ผู้เสียหาย" จากการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมีเอกสารประกอบ ดังนี้
-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหาย และ/หรือสำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)
-สำเนาหลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ (รายงานประจำวัน) /หรือ สำเนาบันทึกคำให้การในฐานะผู้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน และ/หรือ สำเนาคำสั่งหรือคำพิพากษา (ถ้ามี)
-ใบมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 30 บาท (กรณีมอบอำนาจ)
-สำเนาสัญญาการลงทุน หรือสำเนาเอกสารการทำธุรกรรมที่แสดงถึงความเสียหาย จำนวนความเสียหาย
-บัญชีซื้อขาย รายการซื้อขาย และมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์
-สำเนาหนังสือยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือหนังสือการเรียกชำระค่าซื้อหุ้น หรือเอกสารหลัก
-สำเนาบันทึกคำให้การในฐานะพยานต่อพนักงานสอบสวน (ถ้ามี)
-เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.วิธีการยื่นคำร้องฯ มี 2 ช่องทาง ดังนี้
-ยื่นด้วยตนเองที่สำนักงาน ปปง.
-ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (จ่าหน้าซองมาที่สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บมุมของด้านบนว่า (ส่งแบบคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ คดีราย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวก)
ทั้งนี้ ท่านสามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิด้วยตนเองหรือมอบอำนาจ ให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน (โดยมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 30 บาท และเอกสารทุกฉบับต้องรับรองสำเนาถูกต้อง
3.ระยะเวลายื่นคำร้องฯ
ภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน หากพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว ท่านจะต้องดำเนินการนำส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ระยะเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติมดังกล่าว ต้องอยู่ภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์