หุ้นกลุ่มลิสซิ่ง บัตรเครดิตกอดคอดิ่ง SINGER หนักสุดร่วง 5% กังวลมาตรการแก้หนี้
หุ้นกลุ่มลิสซิ่ง และบัตรเครดิต กังวลมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบของภาครัฐ เน้นลดดอกเบี้ย ผ่อนนานขึ้น SINGER หนักสุดร่วง 5%
หนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่มีคนจับจ้องมากที่สุดนโยบายหนึ่งคือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคเกษตร,ธุรกิจ ,และประชาชน โดยภาคการเกษตรจะมีการพักหนี้ตามเงื่อนไข และคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ส่วนภาคธุรกิจจะมีมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สิน และต้นทุนทางการเงิน และภาคประชาชนจะมีการช่วยแก้หนี้นอกระบบอีกด้วย ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการควบคุมการปล่อยกู้หรือลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่มลิสซิ่ง และกลุ่มไฟแนนซ์ รวมถึงบัตรเครดิต จะได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลในครั้งนี้ด้วยหรือไม่
โดยปิดตลาด ณ วันที่ 12 ธ.ค.66 หุ้นลิสซิ่ง ปรับตัวลง ดังนี้
- หุ้น SINGER ปรับลดลง 0.70 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 12.00 บาท เปลี่ยนแปลง -5.51%
- หุ้น JMT ปรับลดลง 1.00 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 27.25 บาท เปลี่ยนแปลง -3.54%
- หุ้น SAWAD ปรับลดลง 1.25 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 42.00 บาท เปลี่ยนแปลง -2.89%
- หุ้น HENG ปรับลดลง 0.05 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 1.90 บาท เปลี่ยนแปลง -2.56%
- หุ้น ASK ปรับลดลง 0.20 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 19.80 บาท เปลี่ยนแปลง 1.00%
- หุ้น DLOR ปรับลดลง 0.20 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 22.40 บาท เปลี่ยนแปลง -0.88%
- หุ้น THANI ปรับลดลง 0.02 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 2.64 บาท เปลี่ยนแปลง -0.75%
ขณะที่หุ้นกลุ่มบัตรเครดิตปรับตัวลงมา ดังนี้
- หุ้น KTC ปรับลดลง 0.75 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 45.50 บาท เปลี่ยนแปลง -1.62%
- หุ้น AEONTS ปรับลดลง 0.50 บาท หรือราคาอยู่ที่ระดับ 149.00 บาท เปลี่ยนแปลง -0.33%
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับมาตรการแก้หนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 10.3 ล้านราย ได้แก่ 1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
2. ลูกหนี้มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก ได้แก่ ครู ตำรวจ ทหาร
3. ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ได้แก่ เกษตรกร นักเรียน (หนี้ กยศ.) ลูกหนี้เช่าซื้อ และ
4. ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างหนี้ยาวนาน
โดยกลุ่มแรกจะมีการยกเลิกสถานะ NPL แบงก์จะได้รับประโยชน์ โดยวันนี้ (12 ธ.ค.66) จะเห็นได้ว่า หุ้น KBANK ปรับบวกขึ้นมาได้ ขณะที่บัตรเครดิตจะสามารถผ่อนได้นานขึ้น และจะมีการปรับลดบัตรเครดิตทำให้เป็นลบกับหุ้นกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น KTC หรือ AEONTS ส่วนกลุ่มไฟแนนซ์ เช่าซื้อจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ ไม่เกิน 10% และลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จึงมองเป็นลบ และกลุ่มที่เป็นลูกหนี้ NPL ยาวนาน จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นบวกกับหุ้น BAM
“ข้อดีจากมาตรการดังกล่าวจาก 4 กลุ่ม มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือการเป็นหนี้ของคนไทย รัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่า สิ่งที่ต้องเข้ามาแก้อย่างแท้จริงคือ การเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ให้มีเงินเยอะขึ้น ให้ประชาชนมีงานทำ”
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากมาตรการแก้หนี้ของทางภาครัฐมองว่า ยังคงมีความคล้ายของเดิมที่เคยมีก่อนหน้าที่เคยมีมาอยู่ เช่น หากมีปัญหาหนักๆ อาจจะส่งเข้าคลินิกแก้หนี้ ที่ทาง ธปท. ทำอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งมองว่า หุ้นที่จะได้รับผลกระทบน่าจะไม่มี เนื่องจากว่า เป็นสิ่งที่ทำอยู่เดิม
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีความกังวลกันว่า อาจจะกระทบหุ้นกลุ่มไฟแนนซ ์อย่าง เช่นหุ้น SAWAD MTC หรือไม่ ซึ่งมองว่า ไม่น่าจะกระทบเพราะไม่มีประเด็นที่เข้ามากดดันหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ มีการปรับลดเพดานการปล่อยกู้ และค่าธรรมเนียมมาก่อนหน้านั้นแล้ว จึงทำให้ไม่ได้มีผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
ขณะที่กลุ่มลิสซิ่ง เช่าซื้อรถใหม่ เช่น หุ้น KKP หรือ TISCO น่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่มีการชะลอการปล่อยกู้ เนื่องจากว่า หากมีการยึดรถมาแล้ว แต่ราคารถกลับปรับตัวลดลงมาค่อนข้างเร็ว เนื่องจาก จีน นำรถ EV เข้ามาตีตลาดในไทย ทำให้รถยนต์มือสองค่อนข้างราคาตก ดังนั้น ธนาคารเองจึงไม่ค่อยกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ
ส่วนบัตรเครดิตอาจจะต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่า มีการจัดเก็บเพดานหนี้ได้เท่าไร มีความแตกต่างจากเดิมหรือไม่
นอกจากนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในภาพรวมยังมองเป็นกลาง เพราะส่วนใหญ่ธนาคารรัฐจะได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้สูงมากนัก ขณะที่ธนาคารมีการบริหารหนี้เสียได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหนี้เสียส่วนใหญ่จะอยู่ที่ธนาคารรัฐมากกว่า จึงมองเป็นกลาง แต่ข้อดีคือ จะทำให้ประชาชนเริ่มเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ธนาคารจะมีการขยายกลุ่มธุรกิจสินเชื่อรายย่อยได้ดีขึ้น พอมีการปราบหนี้นอกระบบการปล่อยกู้ถือว่า ผิดกฎหมาย และทำได้ยากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามว่า ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องยอมรับว่า ธนาคารพาณิชย์เองมีส่วนผลักให้คนออกไปอยู่นอกระบบ เนื่องจากว่า ธนาคารไม่มีปล่อยกู้ หรือไม่มีสลิปเงินเดือนหรือมีเอกสารสำคัญต่างๆ เป็นต้น
“มาตรการแก้หนี้นอกระบบ มีการใช้มาก่อนหน้านี้ ซึ่งครั้งนี้เป็นการประกาศรวมศูนย์ให้เหมือนเป็นการแก้หนี้แบบมีองคาพยพที่ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ข้อดีคือ จะทำให้การแก้หนี้ดูมีเอกภาพมากขึ้น และหนี้นอกระบบจะมีความเกรงกลัวกฎหมายมากขึ้น”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์