ขายหุ้น "วินด์" ปมแตกหัก "วิษณุ - ประเดช"

ขายหุ้น "วินด์" ปมแตกหัก "วิษณุ - ประเดช"

กรรมการ - ผู้ถือหุ้น งัดข้อคัดค้านขายหุ้น วินด์ "ประเดช" ยื่นฟ้องศาล ด้าน NUSA รับรายใหญ่ - ทุนหนา สนใจซื้อหุ้นวินด์แล้ว

          รายการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่ของ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA  ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งยับยั้งมติขายสินทรัพย์ดังกล่าวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการด้วยกันเองที่สำคัญยังเกี่ยวพันไปการขายหุ้น บริษัทพลังงานรายใหญ่ “วิน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” หรือ WEH อีกด้วย

         

        การออกมาโต้แย้งในครั้งนี้ “ ประเดช กิตติอิสรานนท์”  เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 (8.70%) พร้อมพวกรวม 6 รายที่เป็นกรรมการ NUSA เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง NUSA และกรรมการที่เหลือ 7 คน นำโดย “วิษณุ เทพเจริญ”  และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการบริษัทจำหน่าย สินทรัพย์ของ NUSA มูลค่ารวมมากกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบ 70% ของทรัพย์สินทั้งหมดของ NUSA ที่มีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท

         โดยระบุไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน และสั่งห้ามไม่ให้กรรมการอนุมัติขายทรัพย์สินทั้ง 6 รายการจนกว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย

เมื่อไล่ดูสินทรัพย์ที่มีการเทขายออกมาตามมติบอร์ด 7 ธ.ค. 2566   ประกอบไปด้วยที่ดิน ชลบุรี   ภูเก็ต        นครราชศรีมา และยังรวมไปถึงขายหุ้น  WEH ที่ซื้อก่อนหน้านี้ทั้งหมด  7.7 ล้านหุ้น มูลค่า 3,373 ล้านบาทอีกด้วย!!

        ชื่อ ประเดช กิตติอิสรานนท์  ผูกพันแน่นหนึบเสมือน 'กล่องดวงใจ' ยักษ์ใหญ่พลังงานลม  WEH  จากการเข้าซื้อหุ้นลงทุนช่วงปี 2560 มูลค่า 5,900 ล้านบาท ราคาหุ้นละ 410 บาท  มีเงื่อนไขชำระเงิน 50 % ในวันโอนหุ้นส่วนที่เหลือชำระเมื่อได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) จนมีนักลงทุนเข้าร่วมลงขันถึง  32 คน  แต่จนแล้วจนรอด WEH ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้จากคดีความที่ยังต่อสู้กันในชั้นศาลของผู้ถือหุ้นอีกกลุ่มหนึ่ง

       ปรากฎปี 2566   NUSA เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง WEH ด้วยการเข้าซื้อหุ้น   8.04 %   หรือ 3,545  ล้านบาท  จากนั้นมีแผนเพิ่มทุนครั้งใหญ่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปแลกหุ้นกับกลุ่มผู้ถือหุ้น 40 รายในกลุ่ม T1 ที่ถือหุ้น WEH  โดยกลุ่ม T1 จะเข้ามาถือหุ้นใน NUSA สัดส่วนราว 40% และกลุ่ม ”เทพเจริญ”  จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน NUSA ลดลงเหลือ 10%

       หนทางดังกล่าวกลับไม่สามารถผ่านไปได้เมื่อ ก.ล.ต. และ ตลท. สกัดทักท้วงเข้าข่ายจดทะเบียนทางอ้อม (Backdoor Listing)  จน NUSA ต้องยอมยกเลิกการเพิ่มทุนด้วยการ swap และปรับเป็นเกณฑ์  Backdoor Listing  ซึ่งจะมีความเข้มงวดจากการยื่นไฟลิ่งใหม่เสมือนเป็นหุ้นไอพีโอ

      ระหว่างปี 2566 NUSA มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นชัดเจน มาเป็นกลุ่ม  “กิตติอิสรานนท์” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้ง บริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด  ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1  (24.98%)  บริษัท ดีดี มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ถือหุ้นอันดับ 3 (7.75%) และยังไม่นับรวมกลุ่มครอบครัวเข้ามาถือหุ้น เรียกได้ว่า NUSA กลายเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจของครอบครัวไปแล้ว

      ถึงขนาดดึง ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ อดีตซีอีโอ WEH มานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NUSA แทน วิษณุ เทพเจริญ ที่ลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่ 3ต.ค. แต่ปรากฎยังไม่มีการรับรองใดๆตามมติ และให้ซีอีโอเดิมเข้ารักษาการไว้ก่อน 7 ธ.ค. พร้อมมติบอร์ดที่เป็นกรณีฟ้องร้องตามมา        

     ศิริญา เทพเจริญ กรรมการ และ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ “  แปลกใจทำไมมีการฟ้องร้อง เพราะในที่ประชุมบอร์ดทุกคนอยู่ร่วมกันและรับทราบมติที่ออกมา จนบริษัทต้องมีการออกมาชี้แจรายงานการประชุมเพิ่มเติมว่าการขายดังกล่าวเป็นการเพิ่มสภาพคล่องและแก้ไขปัญหาภาระดอกเบี้ย แต่การออกมาทำให้เกิดเป็นข่าวน่าจะเกรงรายการขายหุ้น WEH ทั้งหมด เพราะขายได้เร็วกว่าและมีทุนใหญ่สนใจติดต่อซื้อเพราะได้รับเงินปันปีนี้เลย 160 ล้านบาท

    “รายการขายสินทรัพย์ 6 รายการที่ขายได้ง่ายที่สุดหุ้น WEH  เนื่องจากขายตามราคาได้มาจากมูลค่าก่อนหน้านี้ 3,300 ล้านบาท อยู่ที่ 3,100  ล้านบาทแต่รวมปันผล 160 ล้านบาทด้วย ซึ่งมีทุนใหญ่ กำลังเจรจาสนใจซื้อ หากได้เงินมาแล้วยิ่งทำให้บริษัทมีสภาพคล่องลดขาดทุนสะสมทันที 3,400 ล้านบาท  ”

      ขายหุ้น \"วินด์\" ปมแตกหัก \"วิษณุ - ประเดช\"

      อย่างไรก็ตามการดำเนินการขายในครั้งนี้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์กฎหมายและผ่านมติที่ประชุมบอร์ด  ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นการขายรายการใดรายหนึ่งจากทั้งหมดเพื่อให้เพียงพอต่อภาระหนี้ดอกเบี้ย เงินกู้ยืมจากประเทศจีน อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้อยู่ที่ 200 ล้านบาท เฉพาะแค่ 6 รายการมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท บริษัทไม่ได้มีผลกระทบด้านธุรกิจหลักแต่อย่างใดเพราะที่ดินที่ขายเป็นที่ดินเปล่า