เปิดโผ 10 ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ปี 2566 ‘หุ้นไทย’ ยอดแย่ ผลตอบแทนรั้งท้ายสุด
ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ปี 2566 พบว่าญี่ปุ่น ดัชนี NIKKEI225 แชมป์ ปี 2566 ผลตอบแทนดีสุดอยู่ที่ 28.57% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยแย่สุดแห่งปี 2566 รั้งท้ายติดลบมาสุดถึง 15.20%
ตลอดปี 2566 ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องประสบกับผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้น และแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์หลังจากอิสราเอล และกลุ่มฮามาสเข้าสู่ภาวะสงครามที่เข้ามารุมเร้า
บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับเหตุการณ์ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกผลตอบแทนโดยภาพรวมปี 2566 ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี จะมีเพียง 3 ดัชนีที่ทำได้ค่อนข้างน่าผิดหวังคือ ไทย จีน และ ฮ่องกง
โดยในส่วนปัจจัยที่สนับสนุนผลตอบแทนของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง เช่น สหรัฐ และยุโรปในปี 2566 เป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ปรับตัวลดลง ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอย่าง Fed และ ECB เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยลงในครึ่งปีแรก และเริ่มคงดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังประกอบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนยังคงเติบโตได้ ส่งผลให้ความกังวลของนักลงทุนลดลง
ในส่วนของธนาคารกลางญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นธนาคารกลางหลักของโลกเพียงธนาคารเดียวที่ยังไม่ใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว มีเพียงแค่การปรับ Yield Curve Control ที่เพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังถือว่าเป็นแรงหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวได้อย่างโดดเด่นในปีนี้
ขณะที่ฝั่งเอเชียเป็นเหมือนหนังคนละเรื่อง โดยในฝั่งของอินเดียสามารถสร้างผลตอบแทนได้เกือบ 20% ซึ่งนอกจากเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ดีแล้ว ความชัดเจนของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 รวมถึงความชัดเจนทางการเมืองที่อาจส่งผลให้โมดิ ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยทำให้ดัชนี SENSEX ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
เช่นเดียวกับฝั่งของไต้หวัน และเกาหลี ที่ความต้องการทางด้าน Semiconductor รวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เป็นอีก 2 ดัชนีที่เติบโตได้ดี ข้ามมาในฝั่งของจีนถือว่าสร้างความน่าผิดหวังเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากเจอผลกระทบทางด้านอสังหาฯ ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงนโยบายของทางจีนที่ออกมายังคงเป็นนโยบายเพื่อประคองเศรษฐกิจที่เกิดผลกระทบ ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัว
ขณะที่ฝั่งของไทยถือว่าเป็นปีที่เกิดการ Rotation อย่างชัดเจนจากปี 2565 ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น แต่พอมาปี 2566 กลับถูกเทขายจากต่างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายทำกำไรไปซื้อกลุ่มสินทรัพย์ประเทศอื่น อีกส่วนเป็นความไม่ชัดเจนทางการเมืองในช่วงกลางปี และช่วงปลายปีเป็นผลจากนโยบายที่อาจยังคลุมเครือในเรื่องของการจัดหางบประมาณ และการก่อหนี้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งบประมาณทางด้านการคลังส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยถือว่ารั้งท้ายในปี 2566 นี้
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก พบว่า ญี่ปุ่น ดัชนี NIKKEI225 แชมป์ปี 2566 ผลตอบแทนดีสุดอยู่ที่ 28.57% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยแย่สุดแห่งปี 2566 รั้งท้ายติดลบมาสุดถึง 15.20%
1.ญี่ปุ่น ดัชนี NIKKEI225 ผลตอบแทน +28.57%
2.ไต้หวัน ดัชนี TAIEX ผลตอบแทน +26.53%
3.สหรัฐอเมริกา ดัชนี S&P500 ผลตอบแทน +24.54%
4.อินเดีย ดัชนี SENSEX ผลตอบแทน +18.62%
5.เกาหลี ดัชนี KOSPI ผลตอบแทน +17.98%
6.เวียดนาม ดัชนี VN ผลตอบแทน +11.79%
7.อินโดนีเซีย ดัชนี JCI ผลตอบแทน +6.37%
8.จีน ดัชนี CSI300 ผลตอบแทน -12.22%
9.ฮ่องกง ดัชนี HANG SENG ผลตอบแทน -14.68%
10.ไทย ดัชนี SET ผลตอบแทน -15.20%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์