เช็กที่นี่! 27 หุ้นเด่น ได้ประโยชน์โครงการ Easy E-Receipt
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ นโยบาย Easy E-Receipt เริ่มต้นขึ้นแล้ว เป็นโครงการให้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า และบริการ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท หุ้นที่ได้ประโยชน์ในครั้งนี้มี 27 หลักทรัพย์
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์การลงทุนช่วงต้นปี เน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ ชอบ TISCO CoM7 CPN นโยบาย Easy E-Receipt เริ่มต้นขึ้นแล้ว เป็นโครงการให้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท (1 ม.ค.-15 ก.พ.67) โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ 70,000 ล้านบาท หรือกระตุ้น GDP ปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นอีก 0.18% ทั้งนี้ผู้ที่ใช้มาตรการ Easy e-Receipt แล้ว หากเข้าเงื่อนไขของเกณฑ์ Digital Wallet ก็ยังสามารถใช้โครงการดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาในมุมของกลุ่มอุตสาหกรรม ที่คาดจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว คือ
• กลุ่มท่องเที่ยว : CENTEL, ERW, MINT
• กลุ่มอุปโภค/บริโภค : CPN, CPAXT, HMPRO, ADVANC, COM7, CRC, CPALL, BJC, CBG, OSP, JMART, COM7, DCC, M, AU, SCGP
• กลุ่มคาดหวังเศรษฐกิจฟื้น : KBANK, BBL, TISCO, TIDLOR, MTC, SAWAD, KTC, AEONTS, BAM
ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากโครงการ ช้อปดีมีคืนครั้งแรกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 ที่ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเกิด COVID-19 พบว่า ในช่วงนั้นกำไรบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 34%QoQ แต่กลุ่มหุ้น Domestic นั้นกำไรฟื้นได้สวนทางกับตลาด อาทิ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ +79%QoQ, กลุ่มการเงิน +35%QoQ, กลุ่มค้าปลีก +14%QoQ, กลุ่มธ.พ. +6%QoQ, กลุ่ม ICT +5%QoQ ดังรูปด้านล่าง ดังนั้นยิ่งเป็นข้อมูลอ้างอิงชั้นดีว่า กลุ่มหุ้น Domestic ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ มีโอกาสสูงที่ราคาหุ้นจะ Outperform หุ้นกลุ่มอื่นๆ ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เชื่อว่าแรงกดดันที่มาจากดอกเบี้ยจะน้อยลง สังเกตได้จากเงินเฟ้อบ้านเราอยูในระดับต่ำ (เดือนพ.ย. -0.44%YoY) ซึ่งไม่น่าเป็นปัจจัยเร่งให้ กนง. ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด
โดยดอกเบี้ยบ้านเราตามมุมองของ ธปท. นับว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Neutral Rate) กำลังสวนทางกับทิศทางดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวลงในปี 2567โดย Bloomberg Consensus คาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยเดือนมี.ค.67
ส่วน ECB - BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยเดือนเม.ย.67 หลังเงินเฟ้อทยอยปรับตัวลดลงจากจุดพีค และเข้าใกล้สู่กรอบเป้าหมายที่ 2% มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเงินเฟ้อล่าสุดเดือนพ.ย. ของสหรัฐ อยู่ที่ +3.1%YoY, ยุโรป อยู่ที่ +2.4%YoY, อังกฤษอยู่ที่ +3.9%YoY ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นแรงกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ ในแง่มุมของการขยายตัวเศรษฐกิจบ้านเรา สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ประเมิน GDP Growth ไทยในปี 2567 โตเฉลี่ย +3.2%YoY ซึ่งถือว่าขยายตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ +2.7%YoY รวมถึงเติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเกือบเท่าตัว อาทิ สหรัฐ +1.3%YoY, ยุโรป +1.1%YoY เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยยังมีแต้มต่อจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ยังรออยู่ อาทิ Digital Wallet, Easy E – Receipt,ราคาพลังงาน, ค่าแรงขั้นต่ำ และ FDI (Foreign Direct Investment) เป็นต้น ซึ่งภาวะแวดล้อมข้างต้น เชื่อว่าจะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นในระยะถัดไปได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์