‘ไทยบีเอ็มเอ’ ชี้เกณฑ์ใหม่เข้ม ‘หุ้นกู้ไฮยีลด์’ เหนื่อย-ขายยาก
“ไทยบีเอ็มเอ” มองตลาดหุ้นกู้ปี 67 ยังเหนื่อยต่อ หากหน่วยงานกำกับดูแล เตรียมปรับเกณฑ์ใหม่เข้มขึ้น คาดชัดเจนปีนี้ จับตาโดยเฉพาะ “หุ้นกู้ไฮยีลด์” ฐานะการเงินไม่สวย ด้านนักลงทุนสแกนรายตัว เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ ชี้กระทบต่อเซนทริเมนต์ลงทุน บจ.ขนาดกลางๆ “ขายอืด”
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังเร่งผลักดันแนวทางแก้ไขในเรื่องข้อกำหนดเงื่อนไขทางการเงิน ของผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ (Covenant High Yield Bond) ที่เข้มงวดขึ้นนั้น ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่จะออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ได้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงที่เป็นข้อจำกัดเพิ่มขึ้น เช่น ข้อจำกัดของการก่อหนี้เพิ่ม ข้อจำกัดการจ่ายเงิน หรือขัดจำกัดของการก่อภาระผูกพันบนทรัพย์สิน หรือการทำธุรกรรมของบริษัทในเครือ เป็นต้น
โดยมองอนาคตสถานการณ์ที่เป็นอยู่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลกำลังดำเนินการเข้มขึ้นนั้น จะไม่ให้กระทบกับบริษัทระดับอินเวสต์เมนต์เกรดอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นบริษัทไฮยีลด์ ที่มีการตั้งข้อสงสัยในปีก่อน 4-5 บริษัท ไม่นับ บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เป็นบริษัทไฮยีลด์ที่ควรจะมีข้อจำกัดเหล่านี้เพิ่มขึ้นต้องมีมาตราการจัดการที่เร็ว ไม่ให้บริษัทที่ทำตัวไม่เหมาะสม ซึ่งบริษัทประเภทดังกล่าวมีจำนวนไม่มาก กลับทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดคิดว่าทั้งระบบแย่ไปเสียหมด
เกณฑ์หุ้นกู้ไฮยีลด์เข้มตลาดชะลอตัว
ทั้งนี้ กรณีที่ปรับเกณฑ์การออกหุ้นกู้ไฮยีลด์เข้มงวดขึ้น อาจทำให้ตลาดอาจจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่ออกหุ้นกู้ไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น คาดแนวโน้มการออกหุ้นกู้ในปีนี้ยังเติบโตใกล้เคียงปีก่อนวางไว้เป้าที่ 1 ล้านล้านบาท
ดังนั้น ยังต้องรอติดตามตลาดหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์อีกระยะหนึ่งก่อน หากยังไม่สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ คาดว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง เพราะเท่าที่เห็นนักลงทุนมีการเปรียบเทียบเป็นรายบริษัท ซึ่งบริษัทไฮยีลด์ที่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นเข้มแข็งมาก งบการเงินดีมาก และเชื่อว่าไม่ได้แต่งงบการเงินก็ยังได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุน แต่กลุ่มที่งบการเงินไม่ดีปีนี้อาจจะเหนื่อยต่อไป
ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลการดำเนินงานดี ไม่ได้รับกระทบแต่กระทบต่อความเชื่อมั่นกลุ่มบริษัทขนาดกลางๆ ที่ออกหุ้นกู้ในปีนี้อาจจะขายยาก เพราะปีนี้เซนทริเมนต์การลงทุนได้รับผลกระทบ จากหุ้น STARK หุ้นกู้เรตติ้งกลางๆ ไปถึงไฮยีลด์ขายได้ราว 60-90% จากในอดีตขายได้หมดทั้งจำนวน แต่บางบริษัทที่มีเตรียมการมาดีจริงๆ ก็ยังมีวงเงินสำรองอยู่เพียงพอมาใช้แทนได้
หุ้นกู้อินเวสต์เมนต์เกรดไม่น่าห่วง
นางสาวอริยา กล่าวว่า หุ้นกู้อินเวสต์เมนต์ เกรด ไม่น่าเป็นห่วงยังไม่มีประเด็นยังสามารถออกหุ้นใหม่ทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดได้ (โรลโอเวอร์) และบริษัทผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ค่อยมีปัญหา มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ดี ถึงแม้ปีก่อนจะมีหุ้นกู้อินเวสต์เมนต์ เกรด ที่มีเรตติ้ง BBB บางตัว อาจโรลโอเวอร์ได้เพียง 90% บ้าง แต่พบบริษัทกลุ่มนี้ยังมีช่องทางการเงินอื่นๆ รองรับได้ เช่น เงินกู้แบงก์ หรือเงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น
"นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นหุ้นกู้อินเวสต์เมนต์ เกรด ที่มีเรตติ้ง BBB บางตัวอยู่ เพราะเป็นธุรกิจระดับเจ้าสัวที่มีผลการดำเนินงาน ยังดีต่อเนื่องยาวนาน มีวงเงินสำรองจากธนาคารอยู่มาก และมีสินทรัพย์อื่นๆอีกจำนวนมาก"
อสังหาฯ หุ้นกู้ครบเฉียด ‘แสนล้าน’
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นกู้ปี 67 จะครบกำหนดมีมูลค่า 9.81 แสนล้านบาท โดยจำนวนนี้แบ่งออกเป็น 1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 10% เป็นหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ และอีก 90% เป็นประเภทหุ้นกู้อินเวสต์เมนต์ เกรด บอนด์ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ความกังวลต่อตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในปีนี้นั้น ต้องวิเคราะห์ดูตลาดเงินในประเทศในช่วงนั้นเป็นอย่างไร แม้ช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยสหรัฐผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และบอนด์ยีลด์สหรัฐเริ่มปรับตัวลดลงมา แต่ถ้านักลงทุนสังเกตจะพบว่า บอนด์ยีลด์ไทยปรับลดลงมาน้อยมาก เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยกับสหรัฐค่อนข้างกว้างมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 5.5% ส่วนของไทยอยู่ที่ 2.5%
“แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะอยู่ที่จุดสูงสุดแล้ว และมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ แต่ขณะที่บ้านเราโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปได้ยากมาก แต่โอกาสขึ้นดอกเบี้ยก็ยังไม่ได้ปิด ถ้าไปดูในช่วงปี 2543 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะหยุดขึ้นไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควรที่ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะปิด ซึ่งการที่ปิดเกิดจากสหรัฐเริ่มลดดอกเบี้ย และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มขึ้นดอกเบี้ยต่อ ดังนั้น โอกาสต้นทุนการเงินไทยจะลงในระยะเร็ว ๆ หรือปีนี้ยังน่าจะค่อนข้างยาก”
ดังนั้น พันธบัตรที่ถึงกำหนดชำระคงต้องหาทางแก้ไขสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์ได้ หากสามารถรีไฟแนนซ์ได้ สิ่งที่จะต้องเผชิญคือ ต้นทุนการเงินก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าบริษัทที่เคยออกพันธบัตรเมื่อช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ตัวเลขค่อนข้างจะแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการเงินในแต่ละบริษัทก็ไม่เท่ากัน หากบริษัทที่มีเรตติ้งดี ๆ อยู่ในระดับอินเวสต์เมนต์ เกรด หรือระดับ A ขึ้นไป ต้นทุนทางจะไม่สูงมากนัก ขณะที่บริษัทที่มีต้นทุนทางการเงินไม่ดีมากนัก ต้นทุนทางการเงินจะค่อนข้างสูง ฉะนั้น ในปีนี้นักลงทุนจะมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น โดยเน้นหุ้นกู้ที่เป็นอินเวสต์เมนต์ เกรด
ในส่วนของหุ้น บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD ที่เคยมีปัญหาแต่ด้วยที่ดินค่อนข้างมีศักยภาพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ซื้อมีศักยภาพสูงเป็นต่างชาติ พอเจอช่วงโควิด-19 ไปทำให้แผนการพัฒนาไม่เป็นไปอย่างที่คิด ทำให้ล่าช้า แต่ก็จะทำให้สามารถมีการโอน และรับรู้รายได้ในปี 2567 ได้
เพราะฉะนั้น ในภาวะธุรกิจลักษณะเช่นนี้เมื่อไปเสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อที่จะขอเลื่อนการจ่ายคืนหุ้นกู้ออกไปก่อน ซึ่งลักษณะธุรกิจที่มีปัญหาแบบนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ เพราะผู้ถือหุ้นกู้เห็นว่า อนาคตบริษัทจะมีรายได้ในอนาคตที่จะเข้ามาแน่นอน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลจากปัจจัยกระทบที่อยู่เหนือการควบคุมได้ แต่พื้นฐานธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้หากกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ในกรณีของ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA จะครบกำหนดในเดือนก.พ. 67 จำนวน 132 ล้านบาท และเดือนก.ย. ประมาณ 618 ล้านบาท รวมเป็น 750 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างน้อย หากมาเทีียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ 15,589 ล้านบาท มีหนี้สินประมาณ 6,302 ล้านบาท ซึ่งเทียบแล้วหนี้สินต่อทุนไม่ได้สูงมาก แต่ปัญหาของกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ จะมีเข้ามาในเรื่องของสภาพคล่อง ที่จะสามารถพัฒนาโครงการ และเปลี่ยนพัฒนาให้กลายเป็นรายได้ขึ้นมาได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็จะกลายเป็นภาวะต้นทุนที่ยังค้างอยู่
ไม่ควรซื้อ-เลี่ยงอสังหาฯ ขนาดเล็ก
นายณัฐ ตรีพูนสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความเสี่ยงหุ้นกู้ในปีนี้ที่นักลงทุนต้องพิจารณามีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง คือ ต้นทุนของบริษัทจะต้องมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน เนืื่องจากในช่วงก่อนหน้าที่มีการออกพันธบัตรเชื่อหลายบริษัทออกมาช่วยที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำกว่า ณ ปัจจุบัน
ดังนั้น การที่โรลโอเวอร์ (Rollover) มาเป็นตัวใหม่ แน่นอนภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นตลาดพันธบัตรเชื่อมีความปรับลดลงไปค่อนข้างมาก หลังจากที่ปีนี้หลายตัวค่อนข้างมีปัญหาค่อนข้างมาก เช่น หุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE แท้ที่จริงแล้ว ซึ่งฐานะการเงินไม่น่าที่จะมีปัญหาอย่างแน่นอน แต่แค่พอขายตราสารหนี้ไม่หมดแค่ครั้งเดียว มีนักลงทุนยอมนำตราสารหนี้ออกมาเพื่อขายขาดทุนกัน
ดังนั้น ปี 67 นักลงทุนต้องดูหากพันธบัตรตัวไหนครบกำหนดอายุแล้วนั้น นักลงทุนจะต้องไปดูเป็นบริษัทที่มีใหญ่พอหรือไม่ หรือมีความมั่นคงหรือไม่ หากมีความใหญ่ไม่พออาจจะเกิดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ หากโรลโอเวอร์ต่อไม่ได้
ยกตัวอย่าง หากเป็นธุรกิจบริษัทอสังหาฯ ขนาดเล็ก เชื่อนักลงทุนไม่ควรซื้อควรหลีกเลี่ยงไปก่อน หรืออย่างไฟแนนซ์ที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ จะได้รับผลกระทบแน่ ๆ แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ หากออกหุ้นกู้มาไม่น่าที่จะมีปัญหา หรือไม่ได้รับผลกระทบ เช่น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC หรือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD
ขณะที่ กลุ่มอสังหาฯ หากเป็นอย่าง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI , บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ,
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC หรือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ไม่น่าที่จะมีปัญหาดังกล่าว เป็นต้น