ตลท.ปักป้าย หุ้นเก็งกำไร เรียกเชื่อมั่น นักลงทุน หวังดึงฟันด์โฟลว์ไหลกลับ
ตลท. งัดจับหุ้นเก็งกำไรทั้งระบบ ปรับมาตรการกำกับซื้อขายเพิ่มกรองหุ้นก่อน-หลัง หากราคาหุ้นยังผิดปกติใน 1 เดือน เจอมาตรการซ้ำสอง เพิ่มระดับเกณฑ์ขึ้นเครื่องหมาย C แจงยิบสถานะหุ้นมีปัญหา จ่อหารือ โปรแกรมเทรดดิ้ง-ชอร์ตเซล สัปดาห์หน้า เรียกเชื่อมั่น ดึงฟันด์ โฟลว์กลับ
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุลรองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท. ได้ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) โดยมีการปรับปรุง เพิ่มรายละเอียดในการขึ้นเครื่องหมาย C แบบใหม่ให้มีความชัดเจน จากเดิมที่ขึ้น C แบบรวมอย่างเดียว
สำหรับหุ้นที่มีประเด็น ก็จะลงลึกไปในรายละเอียดว่าหุ้นนั้น ๆ มีประเด็นและมีปัญหาอย่างไร เช่น เครื่องหมาย CB หุ้นของบริษัทกำลังมีปัญหาในการทำธุรกิจ หรือการผิดนัดชำระหนี้ เครื่องหมาย CS หุ้นของบริษัทนั้นมีปัญหาเรื่องงบการเงิน เช่น ผู้สอบบัญชียังไม่แสดงความคิดเห็น หรือ ก.ล.ต. ให้ดำเนินการทำสเปเชียลออดิสอีกทั้งมีเครื่องหมาย CF หุ้นของบริษัทที่มีประเด็นฟีโฟลต์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์และเครื่องหมาย CC เช่น หุ้นที่มีปัญหา กรณี AC ไม่ครบ ไม่มีแหล่งเงินสดในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลท. ระบุว่า การกำกับซื้อขาย ตลท. เพิ่มความเข้มงวดเป็นการคัดกรองหุ้นเก็งกำไรสูงเกินไป เพื่อเข้ามาตรการ และ ติดตามภายหลังอีก 1 เดือนใช้กับหลักทรัพย์ที่มีภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรงและมีการเก็งกำไรสูงเกินไป (excessive speculation)
โดยดำเนินการ 3 ขั้นตอน 1.คัดกรองคัดแยกหลักทรัพย์ที่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติ เช่น ไม่มีปัจจัยด้าน fundamental สนับสนุนมีการกระจุกตัวของผู้ซื้อขายจำนวนมาก ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อเนื่องทุกวัน และประกาศรายชื่อเข้ามาตรการให้ผู้ลงทุนทราบแบบรายวัน และรายสัปดาห์
2.ดำเนินมาตรการคือมาตรการเดิมที่มีอยู่ 3 ระดับ T1 จนถึง T3 ตลท. สามารถพิจารณาขยาย หรือยกระดับมาตรการได้ หากพบว่าสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงผิดปกติ และ 3.ติดตามประเมินผลระหว่างดำเนินมาตรการ หากยังคงพบความผิดปกติอยู่อาจมีการขยายมาตรการระดับเดิมออกไปอีก 3 สัปดาห์ แต่หากพบความผิดปกติเพิ่มขึ้นอาจมีการยกระดับใช้มาตรการในระดับถัดไป จนกว่าการซื้อขายจะกลับมาอยู่ในสภาพปกติซึ่งจะทำให้หลักทรัพย์นั้นพ้นจากมาตรการกำกับการซื้อขาย และหลังมาตรการ (Cooling period)พ้นจากมาตรการ1 เดือนหากพบความผิดปกติในช่วงนี้จะถูกนำกลับเข้ามาในมาตรการ
ทั้งนี้ ตลท. มีการทบทวนปรับปรุงปัจจัยในมาตรการกำกับการซื้อขาย โดยใช้ข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 4 เม.ย. 2565 -31 ธ.ค. 2566 พบว่า มาตรการกำกับการซื้อขายที่ปรับปรุงดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการจัดการกับสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ โดยมีส่วนช่วยลดความร้อนแรงในการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งมีส่วนทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงภายหลังการดำเนินมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์
สำหรับความคืบหน้าในการขยายเวลาซื้อขายหุ้นหลังเปิดรับฟังความเห็น ได้ข้อสรุปว่าจะขยายเวลาเทรดเพิ่มขึ้น 30 นาที โดยในช่วงเช้าจะเริ่มเวลา 10.00 น.-12.30 น. เหมือนเดิม แต่ในช่วงการซื้อขายบ่าย จากเดิมช่วงบ่ายเปิดเทรดเวลา 14.30 น. เปลี่ยนเป็นเปิด 14.00 น. ถึง 16.30 น.
โดยจะทำให้ตลอดทั้งวันหุ้นไทยเปิดให้ซื้อขายจำนวน 5 ชั่วโมง จากเดิม 4.30 ชั่วโมงนับว่า การทยอยปรับเพิ่มระยะเวลาซื้อขายหุ้นของไทยขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นอื่นที่เฉลี่ยมีเวลาซื้อขาย 6-7 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากได้สรุปผลเฮียริ่งเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการนำเสนอ ก.ล.ต. คาดว่าน่าจะเริ่มขยายระยะเวลาการซื้อขายใหม่ ปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 นี้
ด้านความคืบหน้าในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ปัจจุบันมีความคืบหน้าต่อเนื่อง ล่าสุด ตลท. ได้จ้างบริษัทต่างประเทศเพื่อตรวจสอบในเรื่องโปรแกรมซื้อขายหุ้นและช็อตเซลนั้น จะเห็นความชัดเจนและคืบหน้ามากขึ้นหลังเข้ามาทำงานร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว คาดประมาณสัปดาห์หน้าจะมีการจัดส่งรายงานข้อมูลในเบื้องต้น ที่ ตลท. นำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย
นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 67 มีโอกาสเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เคลื่อนย้ายมาตลาดหุ้นในภูมิกาคอาเซียน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก สังเกตุจากเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าในระยะปานกลาง ประกอบกับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้สูงกว่าคาด ตามการฟื้นตัวท่องเที่ยว ส่งออก และบริโภคในประเทศ
โดยเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2567 สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) อยู่ที่ระดับ 1,590 จุด ในกรอบ 1,500-1,700 จุด จากปัจจัยพื้นฐานยยังแข็งแกร่ง ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดกันว่าดีกว่าที่เศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น ประกอบกับในปีนี้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาครบเครื่อง
ทั้งการบริโภคในประเทศ จากมาตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทยอยตามมา การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเพิ่มเติม ทั้งงบปี 2566 และปี 2567 ขณะที่ ภาคส่งออกและท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ร่วมมือกันศึกษาและปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยในปีที่ผ่านมา คาดหวังว่าความผันผวนในตลาดจะลดลงและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยดึงดูดให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เป็นเงินลงทุนระยะสั้นที่ไหลออกไปมากในช่วงตลาดผันผวนปีก่อน มีโอกาสไหลกลับเข้ามาในปีนี้