หุ้นกลุ่มแบงก์กอดคอร่วง KTB ดิ่งเฉียด 14% ผลประกอบการออกมาแย่กว่าคาด
หุ้น KTB ร่วงลงมาที่ 13.81% หรือราคาลดลงที่ 2.50 บาท ราคาอยู่ที่ 15.60 บาท "นักวิเคราะห์" เผยผลงานไตรมาส 4/66 แย่กว่าคาด แนะถือรอรับปันผลปลายเดือน ก.พ.นี้
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้าวันที่ 22 ม.ค.67 หุ้นกลุ่มแบงก์หลังจากที่ประกาศงบปี 2567 เสร็จสิ้นแล้ว ผลงานค่อนข้างแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
- หุ้น KTB ร่วงลงมาที่ 13.81% หรือราคาลดลงที่ 2.50 บาท ราคาอยู่ที่ 15.60 บาท
- หุ้น KBANK ร่วงลงมาที่ 4.38% หรือราคาลดลงที่ 5.50 บาท ราคาอยู่ที่ 120.00 บาท
- หุ้น KKP ร่วงลงมาที่ 4.17% หรือราคาลดลงที่ 2.00 บาท ราคาอยู่ที่ 46.00 บาท
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ที่ออกมาค่อนข้างแย่ โดยเฉพาะ KTB ทำให้ภาคเช้าของวันนี้ (22 ม.ค.67) ราคาปรับร่วงลงมาค่อนข้างหนัก แต่จะมีเพียงแค่ SCB TTB ที่ดีกว่าคาด
แนะนำนักลงทุนว่า อาจจะต้องถือรอเพื่อรอการฟื้นตัวในการประกาศจ่ายปันผลต่อไปของกลุ่มแบงก์ ที่จะอยู่ในช่วงปลายเดือนก.พ. - ต้นเดือนมี.ค.67 จึงยังไม่แนะนำให้ขาย โดยหุ้นที่น่าสนใจยังคงให้น้ำหนักเป็นหุ้น SCB และ TTB
วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้น KTB ที่ราคาร่วงลงมาหลัก ๆ ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องของงบที่ออกมาน่าผิดหวัง ขณะเดียวกันคุณภาพสินทรัพย์ NPL ค่อนข้างแย่ ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ยังไม่ได้มีความกังวลมากนักในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ ดังนั้นหลังจากที่ประกาศงบออกมาจึงทำให้นักลงทุนค่อนข้างประหลาดใจค่อนข้างมากในเชิงลบ
ขณะเดียวกัน การที่ KTB มีการตั้งสำรองเพิ่ม สาเหตุมาจากกรณีก่อนหน้ามีการปล่อยสินเชื่อให้กับ หุ้นกู้ ITD แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีอยู่ที่ธนาคารใดมากน้อย แต่ถือว่า มีผลกระทบอย่างแน่นอน
"ทำให้ Outlook ที่คิดไว้ว่าปีนี้น่าจะดี อาจจะต้องทบวนใหม่อีกครั้ง โดยคำแนะของเรามีการปรับลดประมาณการ ปรับลดราคาเป้าหมาย และปรับลดคำแนะหุ้น KTB จากก่อนหน้าแนะนำ ซื้อ ปรับเป็น ถือ แทน"
สำหรับผลการดำเนินงาน ของ KTB ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 6,111 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.6 ธนาคารมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน และการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ธนาคารจึงตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181.2 ตามหลักความระมัดระวัง รวมถึงการตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน
โดยไตรมาส 4/66 ตั้งสำรองจำนวน 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.5% และรวมทั้งปี 66 จำนวน 37,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.4%
ส่วนรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว ร้อยละ 14.3 ทั้งจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างระมัดระวังในกลุ่มที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยง และผลตอบแทน ทั้งนี้ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.8 ลดลง ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 6,111 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.6 โดยมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตามหลักความระมัดระวัง อีกทั้ง ยังคง Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181.2 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว ร้อยละ 1.8 พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.8 สูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเล็กน้อย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์